วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เทศกาลบ๊ะจ่าง (วันไหวขนมจ้าง)



เทศกาลบ๊ะจ่าง (วันไหวขนมจ้าง)



     เมื่อเดือนก่อน (มิถุนายน) ได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ประเทศจีน และได้ไปเที่ยวงาน เทศกาลหนึ่งของคนจีน เรียกว่า เทศกาลขนมจ้าง หรือเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง

     เทศกาลไหว้บ๊ะจ่างเป็น 1 ใน 3 เทศกาลสำคัญของชาวจีน (อีก 2 เทศกาล ตรุษจีนและไหว้พระจันทร์) ที่ชาวจีนทั้งแผ่นดินใหญ่แล้วชาวจีนในประเทศต่างๆ ต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเทศกาลนี้

     เทศกาลวันไหว้ขนมจ้าง (บ๊ะจ่าง) หรือเทศกาลตวนอู่เจี๋ย หรือเทศกาลตวงโหงว เป็นเทศกาลที่สืบทอดกันมานับแต่โบราณของประเทศจีน ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินทางจันทรคติ หรือ “โหงวเหว่ยโจ่ว” เป็นการระลึกถึงวันที่คุกง้วน หรือ ชีหยวน หรือจูหยวน ขุนนางผู้รักชาติแห่งรัฐฉู่ นอกจากนี้ในประเทศจีน บริเวณแม่น้ำฉางเจียน(แยงซีเกียง), ฮ่องกง, ไต้หวัน, มาเก๊า ยังมีการละเล่นแข่งเรือมังกร ที่เป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ในเทศกาลไหว้ขนมจ้าง

     บ๊ะจ่าง หรือ “ขนมจ้าง” คือข้าวห่อด้วยใบไม้ เป็นอาหารจีน ทำด้วยข้าวเหนียวใส่หมูหรือหมูแดงกับถั่วหรือเม็ดบัวและเครื่องปรุงต่างๆ ผัดแล้วห่อด้วยใบไผ่มัดเป็นทรงพีระมิดสามเหลี่ยม บางที่ก็เป็นรูปสี่เหลี่ยม ใช้เชือกมัดแล้วนึ่งให้สุก ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะทำไส้แตกต่างกันไป โดยปกติบ๊ะจ่างจะมีการทำกันมากในเทศกาล วันไหว้ขนมจ้าง แต่ในปัจจุบันก็สามารถหาทานกันได้อย่างแพร่หลาย

     “บ๊ะจ่าง” เป็นชื่อเรียกในภาษาไทยตามคำเรียกในภาษาจีนฮกเกี้ยน ส่วนภาษาฮากกา หรือคากกา เรียกว่า “งียุกจุ้ง” หมายถึงขนมข้าวเหนียวไส้หมูห่อด้วยใบไผ่รูปสามเหลี่ยมมุมแหลมทรงพีระมิด บะจ่างเป็นขนมสัญลักษณ์ของเทศกาลไหว้เดือนห้า "อื้งเงียดเจี้ยด" หรือ "ตอนอึ้งเจี้ยด" ตรงกับปฎิทินทางจันทรคติวันที่ 5 เดือน 5 ของทุกปี มีตำนานเล่าขานกันสืบต่อๆ กันมาหลากหลายเรื่องราว เช่น



     ตามตำนานหนึ่งเล่าว่า ชีหยวนเป็นขุนนางตงฉินที่มีความซื่อสัตย์ ยึดถือคุณธรรม กล้าพูดกล้าทำ ชอบช่วยเหลือชาวบ้าน ต่อมาถูกเหล่าขุนนางกังฉินกลั่นแกล้งจนถูกปลดตำแหน่ง และเนรเทศออกจากแคว้นฉู่ รัฐฉินจึงถือโอกาสเข้าโจมตีรัฐฉู่จนล่มสลาย ชีหยวนมีใจรักชาติแต่ไม่อาจทำสิ่งใดได้ จึงกระโดดแม่น้ำเปาะล่อกัง (บางตำราว่าเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง) ตายในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 นั่นเองชาวบ้านที่รู้เรื่องการตายของชีหยวน ระลึกถึงความดีของชีหยวน จึงได้ออกเรือเพื่อตามหาศพ ในขณะที่ค้นหาพวกเขาก็เตรียมข้าวปลาอาหารไปโปรยลงแม่น้ำด้วย เพื่อล่อให้สัตว์น้ำมากิน จะได้ไม่ไปกัดกินซากศพของชีหยวน หลังจากนั้นทุกปีเมื่อครบรอบวันตายของชีหยวน ชาวบ้านจะนำเอาอาหารไปโปรยลงแม่น้ำเปาะล่อกัง เมื่อทำมาได้สองปี ก็มีชาวบ้านผู้หนึ่งฝังเห็นชีหยวนที่มาในชุดอันสวยงาม และได้กล่าวขอบคุณชาวบ้านที่นำเอาอาหารไปโปรยเพื่อเซ่นไหว้ แต่ชีหยวนบอกว่าอาหารเหล่านั้นได้ถูกสัตว์น้ำกินเสียจนหมด เนื่องจากบริเวณนั้นมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชีหยวนจึงแนะนำให้นำอาหารเหล่านั้นห่อด้วยใบไผ่ หรือใบจากก่อนนำไปโยนลงน้ำ ในปีต่อมาชาวบ้านต่างก็ทำตามที่ชีหยวนแนะนำ ชีหยวนก็ได้มาเข้าฝันชาวบ้านอีกว่าได้กินมากหน่อย แต่ก็ยังโดนสัตว์น้ำแย่งไปกินได้ ชาวบ้านต้องการให้ชีหยวนได้กินอาหารที่พวกเขาเซ่นไหว้ไปให้อย่างอิ่มหนำสำราญ จึงได้ถามชีหยวนว่าควรทำเช่นไรดี จึงได้คำแนะนำว่าเวลาที่จะนำอาหารไปโยนลงแม่น้ำให้ตกแต่งเรือเป็นรูปมังกร เมื่อสัตว์น้ำทั้งหลายได้เห็นก็จะนึกว่าเป็นเครื่องเซ่นของพระยามังกร จะได้ไม่กล้าเข้ามากิน จึงทำให้เป็นที่มาของประเพณีการไหว้ขนมจ้าง(ขนมบ๊ะจ่าง)และประเพณีการแข่งเรือมังกร มาจนถึงปัจจุบัน


     อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ในสมัยจั้นกว๋อ ฉู่กั๋วและฉินกั๋วรบราช่วงชิงความเป็นใหญ่กัน และกวีชวีเหยียนเป็นที่โปรดปรานของฉู่อ๋อง แต่ทว่าความเห็นของชวีเหยียนถูกขัดขวางโดยขุนนางที่ไม่ซื่อสัตย์ และถูกใส่ความอยู่เสมอๆ จึงถูกฉู่อ๋องขับออกนอกเมืองไปอยู่แดนไกล ก่อนปี ค.ศ. 229 ฉินกั๋วเข้าโจมตีฉู่กั๋วและยึดครองได้ในเวลาต่อมา กวีชวีเหยียนรู้สึกโศกเศร้าอดสูใจมากที่ไม่อาจช่วยเหลือประเทศชาติได้จึงกระโดดแม่น้ำ “มี่หลัวเจียง” ฆ่าตัวตาย ผู้คนที่นับถือยกย่องรักใคร่กวีชวีเหยียนช่วยกันค้นหาศพแต่ก็ไม่พบ เพื่อป้องกันไม่ให้กุ้งปลามากินทำลายร่างกายของกวีชวีเหยียน จึงพากันช่วยโยนข้าวลงแม่น้ำทีละน้อยให้สัยว์น้ำต่างๆกินแทน ต่อมากวีชวีเหยียนได้เข้าฝันผู้คนว่าข้าวที่โยนลงแม่น้ำไปนั้นถูกพญานาคกินหมด ถ้าใช้ใบอ้ายหรืออ้ายเยี่ย ห่อข้าวแล้วมัดด้วยเชือก 5 สีก็จะป้องกันพญานาคกัดกินข้าวได้ ซึ่งเป็นที่มาของการใช้ใบอ้ายปักประตูบ้านเพื่อป้องกันภูตผีปีศาจในวันไหว้บ๊ะจ่าง และเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและความรักชาติของกวีชวีเหยียนจึงเกิดประเพณีไหว้บ๊ะจ่าง "อื้งเงียดเจี้ยด" หรือ "ตอนอึ้งเจี้ย" สืบทอดกันมาทั้งในประเทศจีนเองจนบางแห่งเกิดประเพณีการแข่งเรือ รวมทั้งชนชาติเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จวบจนปัจจุบัน


     ใบอ้าย หรืออ้ายเยี่ย Artemisia annua เป็นพืชล้มรุกที่มีหลายสายพันธ์ และเป็นพืชสมุนไพรยอดนิยมของคนฮากกาที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณนับพันปีเรียกว่า “แง้ยยับ หรือแง้ยับ แล้วแต่สำเนียงท้องถิ่นใด ใบอ้ายมีสรรพคุณทางยามากมายที่ได้รับการยืนยันแล้วโดยแพทย์แผนปัจจุบันของจีนและยังมีสารต้านมาลาเรียที่ดื้อยาที่ดีที่สุดอีกด้วย โดยเอกชนฝรั่งเศษเป็นผู้ได้รับสิทธิวิธีตรวจวัดสารต้านมาลาเรียจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่เพียงผู้เดียว ใบอ้ายยังสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารคาวหวานที่อร่อยได้หลายชนิด คนฮากกาในประเทศไทยที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในยุคก่อนได้นำเมล็ดพันธุ์ติดตัวมาด้วย จึงเชื่อว่ามีปลูกกันทั่วไปเมื่อย้อนไปก่อน 20-30 ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากไม่ได้รับการสืบทอดจากคนฮากการุ่นหลัง ปัจจุบันคงสาบสูญไปมากแล้ว 

     จากตำนานเล่าขาน กลายเป็นประเพณีการไหว้โหงวเหว่ยโจ่ว ซึ่งจะมีในช่วงเดือน 5 ของจีน ตรงกับฤดูร้อน ช่วงนี้จะมีการไหว้เจ้าด้วยขนมบ๊ะจ่าง สาเหตุที่ไหว้ด้วยขนมบ๊ะจ่าง เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน อาหารมักเก็บได้ไม่นาน เน่าเสียง่าย แต่บ๊ะจ่างที่ทำจากข้าวเหนียวสามารถเก็บไว้ได้นานมากขึ้น และการไหว้ด้วยขนมบะจ่างในช่วงฤดูร้อนจะทำให้มีความเป็นอยู่ดี เมื่อไหว้เสร็จคนจีนจะเอาไปชุบน้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายแดงเพื่อนำมารับประทาน อันถือว่าจะทำให้เกิดสิ่งมงคลต่างๆ นักวิชาการบางท่านยังมีความเห็นประการอื่นเกี่ยวกับที่มาของเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ในหนังสือรวมบทความของท่านเหวินยีตัว กล่าวว่า การที่มีการแข่งเรือ และรับประทานบ๊ะจ่างในเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างนั้น ต่างก็มีความสัมพันธ์กับมังกร เทศกาลไหว้บ๊ะจ่างที่จริงแล้วคือเทศกาลมังกร เป็นเทศกาลพิเศษเพื่อที่จะระลึกถึงมังกร 

     ยังมีนักวิชาการบางคนเห็น ว่า เทศกาลไหว้บ๊ะจ่างนี้มีที่มาจากตำนานวันที่ไม่เป็นมงคล จากบันทึกในตำรา โบราณกล่าวว่า ชาวบ้านต่างก็มีคำกล่าวว่า ไม่ควรกล่าวถึงเดือน 5 และไม่เลี้ยงเด็กที่เกิดเดือน 5 อีกด้วย ตำนานกล่าวว่าในสมัยจั้นกว๋อ เมิ่งฉางจวิน แห่งรัฐฉีเกิดในวันที่ 5 เดือน 5 บิดาไม่ให้เลี้ยงไว้ และนำไปทิ้งเสีย เนื่องจากเหตุผลที่ว่าเขาเกิดในวันที่ไม่เป็นมงคล ในขณะที่เมิ่งฉางจวินเสียชีวิต ชวีหยวนยังคงมีชีวิตอยู่ ดังนั้นจึงได้ให้วันที่ 5 เดือน 5 เป็นวันที่ระลึกถึงสิ่งอันไม่เป็นมงคล เห็นได้ชัดว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับชวีหยวนแม้แต่น้อย นอกจากนี้ อ้ายเฮา และชางผู่ ต่างก็เป็นหญ้าสมุนไพร การที่นำหญ้าทั้ง 2 ชนิดนี้แขวนไว้ที่ประตูเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย เป็นคำกล่าวที่สมเหตุสมผลมากกว่า ความเชื่อที่ว่าเพื่อใช้เรียกวิญญาณชวีหยวนให้มาปรากฏกายมากนักแน่นอนว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงเทศกาลไหว้บะจ่าง เรื่องราวที่ผู้คนจะนึกถึงเป็นสิ่งแรก ก็ยังคงเป็นเรื่องของชวีหยวนอยู่นั่นเอง
 
     เทศกาล ของการไหว้บะจ่าง คนจีนจะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้ด้วยธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก การไหว้ด้วยธูป 5 ดอก เพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์ พ่อแม่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะเข้าหลัก 5 ธาตุ หรือ โหงวเฮ้ง ของจีน ประกอบด้วย ธาตุดิน ทอง น้ำ ไม้ และไฟ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวกับวิถีชีวิตโดยตรง





ขอบคุณข้อมูล และภาพสวยๆ จาก
1.http://www.manager.co.th
2.http://hakkapeople.com
3.http://scoop.mthai.com
4.http://www.mtts24.com
5.http://www.painaidii.com