วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ซื่อกูเหนี่ยงซัน (ภูเขาสี่ดรุณี) ประเทศจีน




ซื่อกูเหนี่ยงซัน (ภูเขาสี่ดรุณี)

          ภูเขาสี่ดรุณี  มีชื่อว่า  ซื่อกูเหนี่ยงซัน  อยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน  เขตวนอุทยานฉางผิง  มณฑลเสฉวน  เหนือมณฑลยูนนานติดกับเขตปกครองตนเองทิเบต  ห่างจากเฉิงตู  เมืองหลวงของมณฑลเสฉวนประมาณ 220  กิโลเมตร   วนอุทยานแห่งนี้มีเนื้อที่กว่าสองพันตารางกิโลเมตร  มีชนกลุ่มน้อยหลายเชื้อชาติอยู่ตามหุบเขาและลำธารน้อยใหญ่  เช่น  เชื้อชาติทิเบต  ยี่ เมี่ยว หุย  เซียง  แต่บริเวณใกล้ ซื่อกูเหนี่ยงซัน  มีหมู่บ้านชาวทิเบตและเจดีย์โบราณแบบทิเบต  ดังนั้นเรื่องเล่าต่อไปนี้  สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องของชนเผ่าทิเบต  เรื่องมีอยู่ว่า

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีวิชา เก่งกาจด้านการต่อสู้และเวทย์มนต์คาถา  อาจารย์ท่านนี้มีลูกสาวอยู่สี่คน  ซึ่งนางทั้งสี่  มีหน้าตาและรูปร่างสวยงาม  เป็นที่ร่ำลือไปทั่วแคว้นน้อยใหญ่ ความงามของนางทั้งสี่เป็นที่เลื่องลือไปถึงยักษ์ตนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในดินแดนตอนเหนืออันห่างไกล  ยักษ์ตนนั้นจึงอยากได้นางทั้งสี่มาเป็นภรรยา ยักษ์จึงเดินทางมาสู่ขอกับอาจารย์  อาจารย์ท่านนั้น  เห็นว่าเป็นยักษ์  จึงไม่ยอมยกลูกสาวให้  เกิดการต่อสู้กันทำให้สภาพพื้นที่ของหมู่บ้านเปลี่ยนแปลง  เกิดภูเขาใหญ่น้อย  พายุฝน  ลูกเห็บ  หิมะ มากมาย


          ในที่สุดอาจารย์ผู้เป็นบิดาก็พ่ายแพ้แก่ยักษ์  นางทั้งสี่หรือ สี่ดรุณี   จึงหนีไปด้วยความกลัว  นางรอนแรมหนีเข้าป่าไปหลายวันหลายคืนจนหมดแรง  เหนื่อยอ่อน  ยักษ์ก็ตามมาติดๆ  จนกระทั่งเกิดพายุใหญ่หอบนางทั้งสี่มาบริเวณภูเขาและพายุก็พาเอาหิมะมาเกาะ  ปกคลุมตัวนาง  แข็งตายเป็นภูเขาสี่ดรุณี ซื่อกูเหนี่ยงซัน (ซื่อ แปลว่าสี่  กูเหนี่ยง แปลว่า หญิงสาว ซัน แปลว่า ภูเขา ) ลักษณะของ ซื่อกูเหนี่ยงซัน  เป็นภูเขาหินสูงใหญ่ สี่ ลูกเรียงกัน  มีหิมะปกคลุมเกือบตลอดปี  โดยเฉพาะตรงยอดเขา และมีเขาลูกหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด  สูงที่สุด  ว่ากันว่านั่นคือน้องสาวคนสุดท้อง  เพราะตามธรรมเนียมของชนเผ่าท้องถิ่น  คนน้องจะมีความเป็นอยู่สบายที่สุด  ตัวจึงโตที่สุด  คนพี่นั้นต้องทำงานช่วยบิดามารดา  และเลี้ยงน้อง  ร่างกายจึงไม่เจริญเติบโตเต็มที่

          จากเรื่องเล่านี้  เราสามารถเรียนรู้และมองเห็นได้หลายอย่าง  เช่นบิดาที่เป็นอาจารย์  ในสมัยโบราณ  การเป็นอาจารย์ไม่ใช่เป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับหนังสือ  ตำรา  แต่เป็นผู้รู้  ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการต่อสู้  หรือเวทย์มนตร์ เหนือมนุษย์  สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่ในสมัยก่อนที่เน้นความเป็นอยู่  มีการต่อสู้  การดำรงชีวิตอยู่มากกว่าปัจจุบัน  หรือ เรื่องการเลือกคู่ของหญิงชนเผ่า  ในแถบเทือกเขาทางตะวันตกของสาธารณรัฐประชาชนจีน  มีหลายเผ่าที่หญิงเป็นใหญ่  และมีสิทธิ์  มีเสียงของตนเอง  จากเรื่องเล่านี้เราจะเห็นว่าทั้งนางเองและบิดาของนาง  ต่างไม่ยอมให้แก่ยักษ์  และในเรื่องเล่าเองฝ่ายชายแทนที่จะเป็นมนุษย์หรือโจร กลับเป็นอมนุษย์ ซึ่งหากเป็นมนุษย์ผู้ชายแล้ว  คงไม่สามารถทำเช่นนี้ได้  คงต้องยอมรับการตัดสินใจของฝ่ายหญิงแต่โดยดี

 
          นอกจากนั้น  ยังมีวิถีชีวิตที่ถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน คือการที่พี่ต้องทำงานหนักมากกว่าน้อง  โดยเฉพาะพี่คนโตที่ต้องรับภาระช่วยบิดามารดาทำงาน  ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือนอกบ้าน   ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากภูเขาคนน้องที่สูงใหญ่  โตกว่าพี่ๆ

          และการที่ให้ภูเขาเป็นเพศหญิงนั้น  มองได้หลายมุมเช่นกัน  ซื่อกูเหนี่ยงซัน  แม้จะเป็นภูเขาหิน  ไม่มีต้นไม้ใหญ่  แต่ก็เต็มไปด้วยหิมะตลอดปี  ซึ่งเป็นแหล่งน้ำ  หิมะที่ละลายจากยอดเขาในเวลากลางวันหรือเมื่อฤดูร้อน  ก็จะเป็นสายน้ำที่หล่อเลี่ยงหมู่บ้านแถบเชิงเขา  ที่ทำการเกษตร  เป็นแหล่งน้ำให้คนและสัตว์ได้อาศัย   เสมือนเป็นแม่ผู้เลี้ยงดูลูก  ตลอดจนลักษณะของภูเขาที่สวยงาม  เปลี่ยนสีที่สะท้อนจากท้องฟ้าตามเวลาและฤดูกาล  ก็เปรียบได้กับหญิงที่สวยงามเหล่านี้เป็นต้น

          หากใครจะมองภูเขาสี่ดรุณีนี้ว่าเป็นเพียงความสวยงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้น  ความงามนั้นก็คงจะจบลงเมื่อมองด้วยสายตาเท่านั้น  แต่เมื่อได้มองและเข้าใจถึงตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา  เราจะเห็นความงามของวิถีชีวิต  รวมถึงขนบและวิธีคิดของผู้คนแถบนั้นอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น


ขอบคุณข้อมูล และภาพสวยๆ จาก
1.www.outlooktravel.co.th
2.www.go4get.com

สี่พุทธคีรีศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดินจีน




สี่พุทธคีรีศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดินจีน

          ว่ากันว่า สำหรับชาวพุทธนั้น มีภูเขาที่ต้องไปอยู่ 4 แห่งด้วยกัน ก็คือ เอ๋อเหมยซาน (ง๊อไบ๊) ,ผู่โถวซาน (เกาะ), จิ่วหัวซาน  และอู่ไท่ซาน ซึ่งทั้ง 4 แห่งนี้ ตั้งอยู่ในแต่ละมณฑลของจีน ตามทิศต่าง ตั้งอยู่ที่ไหนกันบ้างนั้นเราไปอ่านรายละเอียดกันเลยค่ะ หากได้มีโอกาส ได้ไปทำงาน หรือเที่ยวที่ประเทศจีน จะได้หาเวลาไปสักการะได้ถูก



อู่ไถซาน
          อู่ไถซาน หรือภู 5 ยอด เป็นพุทธคีรี 1 ใน 4 ของจีน ตั้ง อยู่ในหมู่บ้านไห่หวย (TAIHUAI) ซึ่งอยู่ในหุบเขาที่ล้อมรอบด้วยยอดเขาทั้งห้า ของมณฑลซานวีทางเหนือของประเทศจีน เป็นแหล่งกำเนิดศาสนาพุทธนิกายหัวเยียน (HUA YAN) มาตั้งแต่สมัยฮ่องเต้ฮั่นหมิง แห่งราชวงศ์ตะวันออก ปัจจุบันมีวัดอยู่ประมาณ 48 วัด พระสงฆ์และแม่ชีจำพรรษาอยู่หลายร้อยรูป วัดสำคัญของอู่ไถซาน ได้แก่ วัดเสียน ทง เป็นวัดใหญ่ที่มีชื่อเสียง และเก่าแก่ที่สุด สร้างในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก วัดหนานชาน วัดฝอกวง สร้างในสมัยราชวงศ์ถัง เขาอู่ไถเป็นที่ประดิษฐานของพระโพธิสัตว์เหวินซู ผู่ซ่า หรือพระมัญชุศรี ที่เชื่อกันว่าทรงเป็นเลิศทางปัญญา นอกจากนี้ที่อู่ไถเป็นสถานที่ที่มีวิวธรรมชาติสวยงาม มีสิ่งก่อสร้างโบราณตลอดจนวัฒนธรรมทางศาสนาและประเพณีท้องถิ่น


เอ๋อเหมยซาน
          เอ๋อเหมยซาน หรือง้อไบ๊ ตั้งอยู่ในมณฑลเสฉวนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของจีน ถือเป็นพุทธคีรี 1 ใน 4 แห่งของจีน มีเนื้อที่ประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร มียอดเขาสูงสุดถึง 3,099 เมตร เรียกว่า ว่านฝอติ่ง (ยอดเขาหมื่นพร) มีประวัติเกี่ยวกับพุทธศาสนามากกว่า 2,000 ปี ทั้งยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระโพธิสัตย์ผู่เสียน ผู่ซ่า หรือพระสมันตภัทร ที่เชื่อกันว่าทรงเป็นเลิศทางจริยาและมหาปณิธาน เขาง้อไบ๊ นี้มีสิ่งมหัศจรรย์และความสวยงามเป็นที่เลื่องชื่อ จนเมื่อปี ค.ศ. 1966 ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) พร้อมทั้งหลวงพ่อโตเล่อซาน

          ปัจจุบันภูเขาง้อไบ๊ มีวัดที่พระสงฆ์จำพรรษาอยู่ถึง 33 วัด มีวัดในลัทธิเต๋า 1 วัดและมีวัดภิกษุณี 1 วัด นอกจากนั้นที่ง้อไบ๊นี้ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และของล้ำค่าแห่งง้อไบ๊อีกมากมาย เช่น พระผู่เสียนทรงช้าง ที่หล่อด้วยทองคำผสมสำริด หนัก 62 ตันพระคัมภีร์ใบลานเก่าแก่และตราพระราชลัญจกรของฮ่องแต้ว่านหลี่ แห่งราชวงศ์หมิง ทิวทัศน์ที่มีชื่อเสียงของภูเขาง้อไบ๊ ได้แก่ ฝอกวง (พุทธรัศมี) หวินไห่ (ทะเลเมฆ) เซินเติ้ง (ลูกไฟเทวดา) ยื่อซู (พระอาทิตย์ขึ้น) และชีหยาง (พระอาทิตย์ตก)


จิ่วหัวซาน
         จิ่วหัวซาน ภูเขาอันดับ 1 ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ซึ่งน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้มาทัวร์จิ่วหัวซาน เพราะยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย จิ่วหัวซานมีเนื้อที่ประมาณ 122 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ที่เมืองอือโจว มณฑลอันฮุย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 4 แห่งของศาสนาพุทธ เดิมชื่อจิ่วจือซาน (ภูเขา 9 ลูก) กวีเอกสมัยราชวงศ์ถัง นาม “หลี่ไป่” ได้เดินทางมาถึงจิ่วหัวซาน  และพรรณนาความงามของจิ่วหัวซาน ว่างามเหมือนดอกแก้ว โดยเขียนเป็นกลอน 1 บท และเรียกเขานี้เป็น จิ่วหัวซานนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา   คนจีนที่ได้อ่านกลอนบทนี้ จึงพากันเรียกภูเขาลูกนี้ว่า จิ่วหัวซาน
         
          ภูเขาจิ่วหัวมีประวัติความเป็นมายาวนาน เดิมเป็นสถานที่เผยแพร่ศาสนาของลัทธิเต๋าจนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 397 ศาสนาพุทธได้แพร่เข้ามาถึงจิ่วหัวซานและต่อมาราว ค.ศ. 719 ได้มีเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์เกาหลีชื่อ จิว เอียวจี้ (Jing Qiao Gue) เดินทางมาถึงภูเขานี้และบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขอบวชเป็นพระสงฆ์เพื่อปฏิบัติธรรมเผยแพร่คำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่นี้ถึง 75 ปี และมรณภาพเมื่ออายุได้ 99 ปี หลังจากมรณภาพแล้วปรากฏว่าร่างกายของท่านไม่เน่าเปื่อย (เหมือนมัมมี่) พระสงฆ์และแม่ชี ตลอดจนผู้เลื่อมใสศรัทธา ต่างเห็นพ้องกันว่าร่างกายของท่านที่แห้งลงนั้น มีหน้าคล้ายกับพระโพธิสัตย์ตี้จ้างหวาง นับแต่นั้นมาจิ่วหัวซาน จึงเป็นสถานที่ประดิษฐานของพระโพธิสัตย์ ตี้ จ้าง หวาง ผูซ่า และเชื่อกันว่าทรงเป็นเลิศด้านการ โปรดสัตว์ในยมโลกให้พ้นทุกข์


ผู่โถวซาน 
          ผู่โถวซาน เป็นเกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่งในจำนวนหลาย พันเกาะของมณฑลเจ๋อเจียง ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของจีน มีพื้นที่ 12.5 ตารางกิโลเมตร ชาวจีนถือว่าเป็นเกาะศักดิ์สิทธิ์ นับเป็นดินแดน พุทธคีรี 1 ใน 4 แห่ง ของจีน เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐาน พระโพธิสัตย์อวโลกิเตศวร (เจ้าแม่กวนอิม) หรือ กวนอิมชื่ออิมผู่ซ่า ที่เชื่อกันว่าทรงเป็นเลิศทางเมตตาคุณ

          ดินแดนแห่งนี้ได้ชื่อว่า เป็นถิ่นกำเนิดของเจ้าแม่กวนอิม ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างบนเกาะนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับองค์พระโพธิสัตย์อวโลกิเตศวร (เจ้าแม่กวนอิม) ทั้งสิ้น ในอดีตเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ เคยมีวัดถึง 82 วัด มีพระสงฆ์และแม่ชีรวมกันมากกว่า 4,000 รูป ปัจจุบันมีประมาณ 12 วัด เท่านั้นที่มีพระสงฆ์หรือแม่ชีจำพรรษาอยู่ วัดที่สำคัญบนเกาะนี้ได้แก่ วัดผู่จี้ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างในสมัยราชวงศ์ซ่ง และเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของเกาะผู่โถว ซาน วัดผ่าหยี เป็นวัดที่สร้างติดกับภูเขา จึงได้ชื่อว่าเป็นวัดแห่งความเงียบสงบ วัดฮุ้ยจี้ เป็นวัดที่สร้างอยู่บนภูเขาฝอติ่ง ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของเกาะผู่โถวซาน


ขอขอบคุณข้อมูล และภาพ จาก tour-excenter.com

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ซัมบาลา: หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ



ซัมบาลา : หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ

" คำสอนของซัมบาลาตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า มีปรีชาญาณ อันเป็นรากฐานของมนุษย์อยู่ ซึ่งอาจช่วยคลี่คลายปัญหาของโลกได้ ปรีชาญาณประการนี้มิได้ เป็นสมบัติเฉพาะของวัฒนธรรมใด หรือลัทธิศาสนาใด ทั้งมิได้มาจากตะวันตกหรือตะวันออก ทว่ามันสืบสายวัฒนธรรมของนักรบอันเก่าแก่ ซึ่งดำรงอยู่ในกระแสวัฒนธรรมต่างๆ ตลอดช่วงกาลเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ "

          เช่นเดียวกับประเทศทางเอเชียหลายประเทศ ในธิเบตก็เช่นกัน มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับอาณาจักรในฝัน ซึ่งเป็นต้นตอแห่งศิลปศาสตร์และอารยธรรมของสังคมเอเชียปัจจุบันตามตำนานเล่าว่า อาณาจักรแห่งนี้เป็นสถานที่แห่งสันติสุขและความรุ่งเรือง ซึ่งปกครองโดยผู้ปกครองทรงสติปัญญาและการุณ ทั้งอาณาประชาราษฎร์ก็ล้วนรอบรู้และเมตตาปราณีดังนั้นเองอาณาจักรนี้จึงเป็นสังคมในอุดมคติ สถานที่นี้ถูกขนานนามว่า ซัมบาลา

          เล่ากันว่าพุทธศาสนาได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมซัมบาลา ตามตำนานกล่าวว่า ศากยมุณีพุทธได้แสดงธรรมว่าด้วยตันตระขั้นสูงแก่ดาวะ สังโปปฐมกษัตริย์แห่งซัมบาลา บรรดาพระธรรมเหล่านี้ได้สืบทอดกันมาเป็น " กาลจักรตันตระ " ซึ่งถือว่าเป็นปรีชาญาณที่ลึกซึ้งที่สุดของพุทธศาสนาแบบธิเบต หลังจากองค์กษัตริย์ได้สดับพระธรรมเทศนาเหล่านี้แล้ว เล่ากันว่าบรรดาอาณาประชาราษฎร์แห่งซัมบาลาต่างพากันปฏิบัติสมาธิภาวนาและดำเนินชีวิตตามพุทธมรรคา ด้วยการมีเมตตาจิตและเอาใจใส่ทุกข์สุขของสัตว์ทั้งหลาย โดยนัยนี้เอง ไม่เพียงผู้ปกครองเท่านั้น แต่บรรดาทวยราษฎร์ในอาณาจักรล้วนแล้วเป็นอริยบุคคลผู้มีใจสูงทั้งสิ้น

          ในหมู่ชาวธิเบต มีความเชื่อว่าอาณาจักรซัมบาลานี้ยังดำรงอยู่ซ่อนเร้นอยู่หุบเขาอันลี้ลับในเทือกเขาหิมาลัย ทั้งยังมีบันทึกอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนา ซึ่งบรรยายถึงสถานที่ตั้งและทิศทางที่จะไปสู่ซัมบาลา ทว่าข้อมูลเหล่านั้นเลอะเลือนมาก จนกระทั่งมีผู้สงสัยว่านี่จะถือเป็นจริงหรือเป็นเพียงข้อมูลเปรียบเปรยเท่านั้น ทั้งยังมีคัมภีร์หลายฉบับซึ่งบรรยายอย่างละเอียดลออถึงอาณาจักรแห่งนี้ ยกตัวอย่างเช่นตามที่อ้างอิงอยู่ใน " มหาอรรถกถาแห่งกาลจักร " ซึ่งเขียนโดยมิฟัม คุรุ ผู้มีชื่อเสียงในสมัยศตวรรษที่สิบเก้า ดินแดนซัมบาลานี้อยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำสิตะดินแดนแห่งนี้ ถูกแบ่งออกโดยแนวเทือกเขาทั้งแปด พระราชวังของริกเดนหรือราชันผู้ปกครองซัมบาลานั้น สร้างอยู่บนยอดเขาทรงกลมซึ่งตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางดินแดน มิฟัมบอกต่อไปว่า ขุนเขาลูกนี้ชื่อไกรลาส พระราชวังซึ่งมีชื่อว่ากัลปะกว้างยาวหลายร้อยเส้น เบื้องหน้าพระราชวังทางทิศใต้มีสวนรุกขชาติอันงดงามที่มีชื่อว่ามาลัย ตรงกึ่งกลางสวนรุกขชาตินี้มีวิหารซึ่งสร้างอุทิศถวายแด่กาลจักรโดย ดาวะ สังโป

          ตามตำนานอื่นๆ กลับกล่าวว่า อาณาจักรซัมบาลานี้ได้สาปสูญไปจากโลกหลายร้อยปีแล้ว มาถึงจุดหนึ่งเมื่อทั้งราชอาณาจักรได้บรรลุถึงการตรัสรู้ จึงได้สูญสลายไปดำรงอยู่ในมิติอื่น ตามตำนาน กล่าวว่า กษัตริย์ริกเดนแห่งซัมบาลายังคงเฝ้าดูกิจกรรมทั้งมวลของมุนษย์โลกอยู่ แล้วสักวันหนึ่งจะลงมาช่วยมนุษย์ชาติให้รอดพ้นหายนะ ยังมีชาวธิเบตอีกไม่น้อยที่เชื่อว่าราชันนักรบผู้ยิ่งใหญ่กษัตริย์เกซาร์ แห่งหลิง ทรงได้รับแรงบันดาลใจและได้รับการชี้นำจากกษัตริย์ริกเดน และปรีชาญาณแห่งซัมบาลานี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่าอาณาจักรซัมบาลาดำรงอยู่ในมิติอื่น เพราะเชื่อกันว่าเกซาร์ก็ไม่เคยเดินทางไปซัมบาลา ดังนั้นสายสัมพันธ์แห่งซัมบาลาจึงเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงทางภาวะธรรม ราชันเกซาร์มีชีวิตอยู่ประมาณศตวรรษที่สิบเอ็ด และได้ปกครองแว่นแค้วนหลิง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดคัมธิเบตตะวันออก จากรัชสมัยนี้เอง จึงอุบัติเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับปรีชาสามารถทั้งในแง่ของการศึกษาและการปกครอง เล่าขานกันไปทั้งธิเบต กลายเป็นมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมธิเบต บางตำนานก็กล่าวว่าเกซาร์จะปรากฎขึ้นมาอีกครั้งจากซัมบาลา นำทัพมาปราบมารและพลังมืดดำของโลก

          เมื่อไม่นานมานี้ มีนักวิชาการตะวันตกบางคนได้สันนิษฐานว่า อาณาจักรซัมบาลาอาจจะเป็นอาณาจักรโบราณแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีบันทึกอยู่เอกสารทางประวัติศาสตร์ ดังเช่น อาณาจักรชางชุงในเอเชียกลาง อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการหลายคนที่เชื่อว่าเรื่องราวเกี่ยวกับซัมบาลาเป็นเพียงเรื่องเล่าขานที่ไม่เป็นจริง แต่ในขณะที่อาจสรุปกันง่าย ๆ ว่าอาณาจักรนี้เป็นเรื่องโกหกทั้งเพนั้น เราก็อาจเห็นได้ชัดถึงร่องรอยของความปรารถนาของมนุษย์ อันฝังรากแน่นอยู่ในสิ่งสูงและชีวิตอันดีงาม ซึ่งแสดงออกผ่านตำนานนี้ ที่จริงแล้วในบรรดาคุรุธิเบตหลายท่านมีประเพณีซึ่งถือว่าอาณาจักรซัมบาลามิใช่สถานที่ซึ่งดำรงอยู่ภายนอกหากเป็นรากฐานของสภาวะการหยั่งรู้และการประจักษ์แจ้ง อันเป็นศักยภาพที่ดำรงอยู่ภายในตัวมนุษย์ทุกคนจากทัศนะนี้เอง จึงไม่สำคัญว่าอาณาจักรณ์ซัมบาลาเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ หากควรที่เราจะเห็นคุณค่า และดำเนินตามอุดมคติของสังคมอริยะซึ่งแสดงนัยอยู่

          ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่าน ข้าพเจ้าได้นำเสนอข้อเขียนที่ว่า " คำสอนของซัมบาลา " ซึ่งใช้ภาพของอาณาจักรซัมบาลาเพื่อแสดงถึงอุดมคติของการตรัสรู้ซึ่งปราศจากลัทธินิกาย นั่นก็คือ เสนอให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ของการยกระดับจิตวิญญาณของตนและของผู้อื่น โดยไม่ต้องอาศัยแนวทางหรือญาณทัศนะของศาสนาใด เพราะแม้ว่าสายความคิดของซัมบาลาจะยืนพื้นอยู่บนหลักคิดและความนุ่มนวลของวัฒนธรรมแบบพุทธ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีรากฐานที่เป็นอิสระของตนเอง ซึ่งมุ่งตรงสู่การขัดเกลาให้เป็นมุนษย์ที่แท้ สังคมมนุษย์ปัจจุบันต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอันหนักหน่วงนานับประการ จึงดูยิ่งจำเป็นจะต้องแสวงหาแนวทางอันเรียบง่ายและไร้ลัทธิ เพื่อนำมาปฏิบัติและแบ่งปันประสบการณ์นั้นร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นเองคำสอนซัมบาลาหรือ" ญาณทัศนะซัมบาลา " ซึ่งเรียกกันอย่างกว้าง ๆ ตามนัยนี้ จึงเป็นเสมือนความพยายามอันหนึ่งที่จะผลักดันเกื้อหนุนให้ไปสู่ภาวะการดำรงอยู่อันสมบูรณ์สำหรับตัวเราและผู้อื่นด้วย

          สภาวะการของโลกปัจจุบันคือต้นตอแห่งความกังวลห่วงใยของเราทุกคน เป็นต้นว่า ความน่าหวาดเสียวของสงครามปรมาณู ความยากจนที่แผ่ลุกลามออกไป ความไม่มั่นคงทางภาวะเศรษฐกิจ ความปั่นป่วนวุ่นวายของสภาพสังคมและการเมือง และความวิกลวิการทางจิตใจแบบต่างๆ โลกนี้ล้วนตกอยู่ในความปั่นป่วนยุ่งเหยิง คำสอนของซัมบาลาตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า มีปรีชาญาณอันเป็นรากฐานของมนุษย์อยู่ ซึ่งอาจช่วยคลี่คลายปัญหาทั้งหลายของโลกได้ ปรีชาญาณประการนี้มิได้เป็นสมบัติเฉพาะของวัฒนธรรมใดหรือลัทธิศาสนาใด ทั้งมิได้มาจากตะวันตกหรือตะวันออก ทว่ามันสืบสายวัฒนธรรมของนักรบอันเก่าแก่ ซึ่งดำรงอยู่ในกระแสวัฒนธรรมต่างๆ ตลอดช่วงกาลเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์

          ความเป็นนักรบในที่นี้มิได้หมายถึงการไปรบรากับผู้อื่น ความก้าวร้าวนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาทั้งหลายแหล่ มิใช่การแก้ไข คำว่านักรบนี้มาจากภาษาธิเบตว่า ปาโว ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้กล้า" ความเป็นนักรบตามนัยนี้จึงนับเป็นวัฒนธรรมแห่งความกล้าหาญของมุนษย์ หรือเป็นวัฒนธรรมแห่งความไม่หวาดกลัว ชาวอเมริกันอินเดียนฝ่ายเหนือก็มีวัฒนธรรมดังกล่าว ทั้งในสังคมอเมริกันอินเดียนฝ่ายใต้ก็มีอยู่เช่นกัน ซามูไรในอุดมคติของญี่ปุ่นก็แสดงออกถึงปรีชาญาณของนักรบด้วยเช่นกัน ทั้งในสังคมคริสเตียนของชาวตะวันตกก็มีแนวคิดเรื่องนักรบผู้เห็นธรรมอยู่ด้วย กษัตริย์อาเธอร์นั้นเป็นตำนานซึ่งเป็นแบบฉบับของนักรบที่แท้จริงนวัฒนธรรมตะวันตก และเป็นผู้ปกครองผู้ยิ่งใหญ่ในคัมภีร์ไบเบิ้ล ดังเช่นกษัตริย์เดวิด ก็เป็นแบบฉบับของนักรบซึ่งรู้จักกันดีในวัฒนธรรมของยิวและคริสเตียน บนโลกของเรานี้มีตัวอย่างของความเป็นนักรบอันเลอเลิศอยู่มากมาย

          กุญแจที่ไขสู่ความเป็นนักรบและหลักการเบื้องต้นของญาณทัศนะซัมบาลาก็คือการไม่กลัวความจริงในตนเอง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว คำจำกัดความของความกล้าก็คือ "ไม่กลัวตัวเอง"
ญาณทัศนะซัมบาลาสอนดังนั้น เบื้องหน้าปัญหาอันยิ่งใหญ่ของโลกที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ เราก็อาจหาญกล้าและเมตตาได้ในขณะเดียวกัน ญาณทัศนะซัมบาลาคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความเห็นแก่ตัว เมื่อเราเริ่มกลัวตัวเองและกลัวภัยคุกคามจากโลกปัจจุบัน เมื่อนั้นเราก็กลับเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจเราปรารถนาจะสร้างรังเล็ก ๆ ของตนขึ้น สร้างเปลือกขึ้นห่อหุ้มตัวเองเพื่อว่าเราจะได้อยู่เพียงลำพังอย่างปลอดภัยในนั้น

          ทว่าแท้จริงเราอาจกล้าได้มากกว่านั้น เราต้องพยายามคิดให้กว้างไกลออกไปกว่าบ้านของเราคิดให้ไกลออกไปกว่าไฟที่ลุกอยู่ในเตา ไกลกว่าการส่งลูกหลานไปเข้าโรงเรียนหริอการตื่นขึ้นมาทำงานในตอนเช้า เราจะต้องพยายามขบคิดว่าเราจะสามารถช่วยโลกนี้ได้อย่างไรเพราะถ้าเราไม่ช่วยแล้วก็จะไม่มีใครอื่นช่วยเลย เป็นภารกิจของเราที่จะต้องช่วย ในขณะเดียวกัน การช่วยผู้อื่นก็มิได้หมายถึงการสละชีวิตส่วนตัวไป คุณไม่จำเป็นต้องลนลานรีบไปเป็นนายกเทศมนตรีหรือประธานาธิบดีเพื่อที่จะได้ช่วยผู้อื่น แต่คุณสามารถเริ่มต้นจากญาติมิตรและผู้คนรอบ ๆ ตัว ที่จริงแล้วคุณอาจเริ่มต้นจากญาติมิตรและผู้คนรอบ ๆ ตัว ที่จริงแล้วคุณอาจเริ่มต้นด้วยตัวเองด้วยซ้ำ ข้อสำคัญก็คือต้องตระหนักอยุ่เสมอว่าคุณต้องไม่ทอดทิ้งภารกิจของตนเองคุณไม่อาจทำเป็นเพิกเฉยอยู่ได้ เพราะเหตุว่าโลกนี้ต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง

          ในขณะที่ทุก ๆ คนต่างมีภาระรับผิดชอบที่จะต้องช่วยเหลือโลกแต่การณ์กลับจะเป็นว่าเราไปก่อกวนให้ยุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้น หากเราพยายามจะไปยัดเยียดความคิดของเราหรือยัดเยียดความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น มีคนไม่น้อยที่รู้ทฤษฎีว่าโลกต้องการสิ่งใดบ้าง คนบางคนคิดว่าโลกต้องการคอมมิวนิสต์ บางคนคิดว่าโลกต้องการประชาธิปไตย บ้างก็คิดว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้โลกรอดบ้างก็คิดว่าเทคโนโลยีจะทำลายล้างโลก คำสอนซัมบาลานั้นมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่จะปรับเปลี่ยนโลกให้เข้าไปอยู่ในทฤษฎีใด ๆ รากแก้วของญาณทัศนะซัมบาลามีว่า ในการที่จะสถาปนาสังคมอริยะสำหรับมนุษย์ เราจำเป็นที่จะต้องค้นให้พบว่าเรามีของจริงสิ่งแท้อะไรอยู่ในตัวบ้าง ซึ่งอาจสามารถมอบให้แก่โลก นั่นก็คือเหตุแรกสุด เราจะต้องพยายามพิจารณาดูประสบการณ์ของเราทั้งหมด เพื่อที่จะหยั่งเห็นให้ได้ว่าเรามีสิ่งมีค่าอะไรอยู่ในตัว ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับสภาวะความเป็นอยู่ทั้งของตนเองและผู้อื่น


          ถ้าเราตั้งใจมองอย่างปราศจากอคติ เราจะพบว่านอกเหนือจากปัญหาและความสับสนทั้งมวลที่เรามีอยู่ นอกเหนือจากภาวะจิตและอารมณ์ที่ ขึ้นๆ ลงๆ แล้ว ยังมีบางสิ่งบางอย่างอันเป็นความดีงามรากฐานของการเกิดมาเป็นมนุษย์ นอกเสียจากเราจะสามารถค้นพบถึงรากฐานแห่งความดีงามในชีวิตของเราอันนั้น หาไม่เราก็มิอาจหวังที่จะช่วยเกื้อหนุนชีวิตของผู้อื่นไปในทางสุงได้เลย ถ้าหากเราเป็นเพียงสัตว์โลกผู้โชคร้ายและน่าสงสาร เรายังจะสามารถฝันถึงสังคมอริยะได้อยู่อีกหรือ

          การค้นพบถึงความดีงามที่แท้จริง ย่อมเกิดจากการแลเห็นถึงคุณค่าความหมายของประสบการณ์แม้ที่ธรรมดาสามัญที่สุด เรามิได้กำลังพูดถึงความรู้สึกดี ๆ ซึ่งเกิดจากการที่เราหาเงินได้เป็นล้านหรือจากการเรียนจบมหาวิทยาลัย หรือการซื้อบ้านใหม่ได้ แต่เรากำลังพูดถึงความดีงามรากฐาน
ของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งมิได้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือการบรรลุถึงสิ่งที่มุ่งหวัง เราได้สัมผัสถึงความดีงามชั่วแวบหนึ่งอยู่เสมอ แต่เราพลาดที่จะประจักษ์แจ้งอย่างถ่องแท้ เมื่อเราแลเห็นสีสันอันสดใสนั้น เราก็กำลังเป็นประจักษ์พยานถึงแก่นสารอันดีงามซึ่งมีอยู่ในตัวเรา เมื่อเราได้ยินเสียงอันไพเราะ ก็เท่ากับเรากำลังสดับฟังแก่นแท้อันดีงามของเราเอง เมื่อเราก้าวออกไปสู่สายฝนเราย่อมรู้สึกสะอาดสดชื่น และเมื่อเราเดินออกจากห้องที่อึดอัดปิดล้อม เราย่อมดื่มด่ำในอากาศสดชื่นที่พรั่งพรูเข้ามา เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นเพียงเศษเสี้ยววินาที แต่มันล้วนเป็นประสบการณ์ที่แท้จริงของความดีงาม มันอุบัติขึ้นกับเราอยู่ตลอดเวลา แต่โดยปกติแล้วเรากลับไม่ใส่ใจ ถือว่าเป็นเพียงสิ่งดาษ ๆ เป็นเพียงความบังเอิญเท่านั้น ทว่าตามหลักการซัมบาลาแล้ว กลับถือว่าจำเป็นยิ่งที่จะต้อง ตระหนักถึงและหยิบฉวยชั่วขณะเหล่านั้นไว้ ด้วยว่ามันแสดงออกถึงรากฐานแห่งอหิงสาและความสดใหม่ในชีวิตของเรา ซึ่งก็คือรากฐานแห่งความดีงามนั่นเอง

          มนุษย์ทุกคนมีรากฐานแห่งธรรมชาติอันดีงามนี้อยู่ มันเป็นสิ่งที่เข้มข้นและชัดเจน ความดีงามนั้นบรรจุไว้ด้วยความอ่อนโยนและความละเอียดอ่อนอย่างล้นเหลือ ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์เราอาจร่วมเพศทั้งเราอาจสัมผัสใครบางคนอย่างอ่อนโยน เราอาจจุมพิตใครบางคนด้วยความรู้สึกเข้าอกเข้าใจอันละเอียดอ่อน เราอาจดื่มด่ำซาบซึ้งในความงาม อาจเห็นคุณค่าของสิ่งดีที่สุดในโลกนี้ เราอาจชื่นชมในความสดใสกระจ่างของสีสันต่าง ๆ ในความเหลืองใสของสีเหลืองในความแดงจ้าของสีแดง ในความเขียวสดของสีเขียวและในความม่วงเข้มของสีม่วง ประสบการณ์ของเราล้วนจริงจังยิ่ง ในเมื่อสีเหลืองเป็นสีเหลือง เราจะสามารถบอกได้หรือว่ามันเป็นสีแดง เพียงเพราะว่าไม่ชอบความเหลืองของมัน ถ้าทำดังนั้นก็เท่ากับบิดเบือนความจริง เมื่อเรามีแดดสว่างสดใสเราจะปฏิเสธมันโดยการกล่าวว่าแดดนั้นเป็นสิ่งเลวได้ละหรือ คิดหรือว่าเราจะสามารถพูดดังนี้ได้ เมื่อใดก็ตามที่มีแดดส่องสว่างหรือมีหิมะตก เราทำได้ก็แต่เพียงตระหนักซึ้งถึงคุณค่าของมัน เมื่อเราตระหนักยอมรับได้ถึงความจริง สิ่งนั้นย่อมส่งผลถึงตัวเราด้วยเราอาจต้องลุกขึ้นมาในยามเช้าหลังจากได้นอนเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ถ้าหากเรามองออกไปนอกหน้าต่างและได้เห็นดวงอาทิตย์ฉายแสง สิ่งที่เห็นอาจช่วยให้เรากระปรี้กระเปร่าขึ้น เราอาจเยียว
ยาตนเองให้หายจากความรู้สึกกดดันต่าง ๆ ถ้าเราตระหนักว่าโลกของเรานี้ดีงาม

          การที่ว่าโลกนี้ดีงาม มิใช่เป็นเพียงความคิดอย่างผิวเผิน ทว่ามันดีเพราะเหตุที่เราสามารถสัมผัสถึงความดีงามของมัน เราอาจสัมผัสได้ว่าโลกของเรานี้สมบูรณ์และเที่ยงตรง ตรงไปตรงมาและจริงยิ่ง ด้วยเหตุว่าธรรมชาติพื้นฐานของเราดำเนินร่วมไปกับความดีงามของสถานการณ์ ศักยภาพของมนุษย์ ในเชิงภูมิปัญญาและความสง่างาม ย่อมมุ่งสู่การสัมผัสถึงความแจ่มกระจ่างของฟากฟ้าสีครามสดใส สู่ความสดฉ่ำของท้องทุ่งเขียวขจี และความงามของแมกไม้และป่าเขา เรามีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับความดีซึ่งอาจปลุกเราให้ตื่นขึ้นและทำให้เรารู้สึกดีๆ อย่างแท้จริงญาณทัศนะซัมบาลาจึงมุ่งผสานเข้ากับศักยภาพของเราเพื่อปลุกให้เราตื่นขึ้น และตระหนักถึงสิ่งดีๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับเรา ซึ่งที่จริงมันได้เกิดขึ้นแล้วด้วยซ้ำ

          กระนั้นก็ตาม ยังมีสิ่งที่น่ากังขาอยู่อีก คุณอาจจะสร้างสายใยเชื่อมโยงอย่างวิเศษกับโลกของคุณได้ คุณอาจเห็นแสงแดดส่องสว่าง เห็นสีสันอันสดใส ได้ยินดนตรีอันไพเราะ ได้กินอาหารรสดีหรืออะไรก็ตามแต่ ทว่าการเห็นชั่วแวบถึงความดีงามเหล่านั้น จะสัมพันธ์กับประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องอยู่อย่างไรเล่า โดยนัยหนึ่ง คุณอาจรู้สึกว่า " ฉันต้องการจะได้ความดีงามซึ่งมีอยู่ในตัวฉันและโลกแห่งปรากฎการณ์นั้นมา " ดังนั้นคุณจึงวิ่งพล่านเที่ยวเสาะหาหนทางที่จะครอบครองมันไว้ หรือหยาบยิ่งไปกว่านั้น คุณอาจพูดว่า " ถ้าอยากได้ จะขายเท่าไร ประสบการณ์นั้นงดงามมากฉันอยากจะได้มันไว้ " ปัญหาของวิธีการชนิดนี้ก็คือ คุณจะไม่มีวันพึงพอใจแม้ว่าคุณจะได้สิ่งที่ต้องการมา เพราะว่าคุณก็ยังคงมีความอยากอย่างรุนแรงอยู่นั่นเอง ถ้าคุณลองเดินไปตามถนนสายที่ห้า คุณจะเห็นเรื่องน่าเศร้าใจทำนองนี้ คุณอาจจะกล่าวว่าผู้คนที่เดินซื้อของอยู่ตามถนนสายที่ห้า ล้วนเป็นผู้มีรสนิยม ดังนั้น เขาจึงมีโอกาสที่จะตระหนักได้ถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่อีกนัยหนึ่ง ก็ประหนึ่งว่าคนเหล่านั้นห่อมคลุมอยู่ด้วยหนาม เขาต้องการจะหยิบฉวยมาครอบครองไว้ได้ให้ได้ มากขึ้นๆ

          และแล้ว ก็ยังมีวิธีการอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการยอมหมอบราบคาบแก้ว หรือน้อมตนลงเพื่อเข้าถึงความดีงามชนิดนั้น มีใครบางคนบอกว่าเขาอาจทำให้คุณมีความสุขได้ ถ้าคุณเพียงแต่มอบชีวิตให้เขาจัดการ ถ้าหากคุณเชื่อเขาก็จะมอบความดีงามที่คุณต้องการให้ คุณอาจจจะเต็มใจยอมโกนหัว หรือนุ่งห่มจีวร หรือกระทั่งยอมคลานบนพื้น หรือกินอาหารด้วยมือด้วยหวังจะเข้าถึงความดีงาม คุณพร้อมที่จะแลกด้วยศักดิ์ศรีของตนเองและยอมตนเป็นทาส

          สภาพทั้งสองอย่างล้วนเป็นความพยายามเพื่อจะเข้าถึงบางสิ่งบางอย่างที่ดีงามและจริงแท้ ถ้า
คุณร่ำรวย คุณคงพร้อมที่จะเสียเงินมากมายเพื่อให้ได้มา หรือถ้าคุณจน คุณคงพร้อมที่จะอุทิศ
ชีวิตเพื่อมันแต่ทว่าวิธีการทั้งสองนั้นล้วนผิดพลาด

          สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ เมื่อเราเริ่มประจักษ์แจ้งถึงศักยภาพแห่งความดีงามในตนเอง เรามักจะถือเอาอาการค้นพบนี้เป็นจริงเป็นจังเกินไป เราอาจจะฆ่ากันเพื่อความดีงาม แม้กระทั่งยอมตายเพื่อความดีงาม เราปรารถมันอย่างสุดจิตสุดใจ แต่สิ่งที่เราขาดก็คืออารมณ์ขัน อารมณ์ขันในที่นี้มิได้หมายถึงการเล่าเรื่องขำขัน หรือเป็นคนตลก หรือเที่ยววิพากษ์วิจารณ์คนอื่นและหัวเราะเยาะ อารมณ์ขันที่แท้จริงนั้นคือการสัมผัสอย่างแผ่วเบา มิใช่การปฏิเสธความจริงโดยสิ้นเชิงหากแต่หมายถึงการชื่นชมในความจริงด้วยอาการอันนุ่มนวลแผ่วเบา รากฐานของญาณทัศนะซัมบาลาก็คือ การค้นพบถึงอารมณ์ขันอันสมบูรณ์และจริงแท้ ค้นให้พบถึงสัมผัสแผ่วเบาของความชื่นชมนั้น

          ถ้าคุณลองมองดูตัวเอง ลองมองดูจิตใจมองดูกิจกรรมของตนเองคุณอาจจะได้อารมณ์ขันซึ่งสูญหายไปในอดีตกลับคืนมา จุดเริ่มต้นก็คือ คุณจะต้องเฝ้าดูความจริงอันธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นมีด เป็นส้อม จาน โทรศัพท์ เครื่องล้างจานหรือผ้าเช็ดตัว เฝ้าดูเจ้าสิ่งสามัญเหล่านี้แหละ มันไม่มีอะไรที่ดูลึกลับซับซ้อนหรือแปลกประหลาดหรอก แต่ถ้าหากไม่มีจุดเชื่อมโยงระหว่างตัวคุณกับเหตุการณ์ธรรมดาสามัญในชีวิตเหล่านั้น ถ้าคุณมิได้เฝ้าดูวิถีชีวิตอันต่ำต้อยสามัญนี้แล้ว คุณจะไม่มีวันได้ค้นพบอารมณ์ขัน หรือศักดิ์ศรี หรือแม้แต่ความจริงใจใดๆ เลย

          ไม่ว่าจะเป็นการหวีผม การแต่งตัว การล้างจาน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งแห่งสติสัมปชัญญะมันล้วนเป็นหนทางที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับความจริง แน่นอน ส้อมคือส้อม คือเครื่องมือพื้นๆ สำหรับใช้ในการกิน แต่ในขณะเดียวกัน ในขยายปริมณฑลของสติสัมปชัญญะให้กว้างไกลออกไปอาจจะขึ้นอยู่กับว่าคุณใช้ส้อมอย่างไรด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือญาณทัศนะซัมบาลานั้นก็คือความพยา
ยามที่จะกระตุ้นให้คุณประจักษ์ว่าคุณมีชีวิตอยู่อย่างไร มีความสัมพันธ์กับชีวิตสามัญอย่างไร

          ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ เราจึงมีสภาวะที่ตื่นอยู่เป็นพื้นฐาน ทั้งยังมีความสามารถที่จะเข้าใจความ
จริงได้ด้วย เรามิใช่ทาสของชีวิต หากเป็นอิสระ การเป็นอิสระในที่นี้มีความหมายง่ายๆ ว่ามีร่างกายและจิตใจ ดังนั้นเราจึงสามารถยกระดับตนเองขึ้นมา เพื่อที่จะสามารถกระทำร่วมกับความจริงอย่างสง่างามและเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ถ้าเราเริ่มใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม เราจะพบว่าจักรวาลทั้งหมด รวมถึงฤดูกาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหิมะน้ำตก น้ำแข็งหรือโคลนตม ต่างก็เต็มไปด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ ซึ่งกระทำการร่วมไปกับเรา ชีวิตคือปรากฎการณ์ที่น่าขบขัน แต่มันก็มิได้เยาะเย้ยเรา เราจะพบว่าในที่สุดเราจะสามารถจัดการกับโลกของเราได้ จัดการกับจักรวาลของเราอย่างเหมาะสมและเต็มเปี่ยมด้วยอาการอันแยบยล

          การค้นพบถึงความดีงามรากฐานนี้มิใช่ประสบการณ์ทางศาสนาโดยเฉพาะเจาะจง หากแต่เป็นการประจักษ์ว่าเราสามารถสัมผัสและกระทำการร่วมกับความจริงได้โดยตรง คือโลกซึ่งเป็นจริงซึ่งเรามีชีวิตอยู่นั้นเอง การสัมผัสถึงความดีงามรากฐานในชีวิตของเรา ย่อมทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้มีสติปัญญาใช้การได้ ทั้งโลกนั้ก้มิใช่ศัตรูของเรา เมื่อเรารู้สึกว่า ชีวิตของเรานั้นดีงามและถูกทำนองคลองธรรม เราก็ไม่จำเป็นจะต้องหลอกตัวเองหรือลวงคนอื่นอีกต่อไป เราอาจแลดูชีวิตอันแสนสั้นนี้โดยไม่รู้สึกผิดหรือไร้ค่า และขณะเดียวกันก็อาจแลเห็นถึงศักยภาพที่จะแผ่ขยายความดีงามออกไปยังผู้อื่น เราอาจพูดถึงความจริงใจได้อย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยหมดจดยิ่งในขณะเดียวกันก็มั่นคงยิ่ง

          แก่นแท้ของความเป็นนักรบหรือแก่นแท้ของความกล้าหาญของมนุษย์นั้น ย่อมไม่ยอมสยบพ่ายแพ้ต่อสิ่งใดทั้งสิ้น เราไม่มีวันพูดว่าเรากำลังจะแตกกระจายเป็นเสี่ยง ๆ เราไม่อาจพูดว่าคนอื่นก็จะต้องเป็นเช่นนั้น และโลกด้วยเช่นกัน ชั่วชีวิตของเราอาจจะมีปัญหาอันหนักหน่วงมากมายในโลกแต่ขอให้เรามั่นใจว่าชั่วชีวิตนี้จะไม่มีความหายนะใด ๆ อุบัติขึ้น เราอาจป้องกันได้ ทุกสิ่งสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเรา อย่างน้อยที่สุดเราก็อาจช่วยโลกให้รอดจากหายนะ ญาณทัศนะซัมบาลามีอยู่เพื่อสิ่งนี้มันอุดมคติเก่าแก่ที่มีมานานนับศตวรรษ นั่นคือ โดยการรับใช้โลกนี้ เราก็อาจช่วยมันให้รอด แต่การช่วยให้รอดก็ยังไม่เพียงพอ เรายังจะต้องกระทำการเพื่อสร้างสังคมมนุษย์ที่เป้นอริยะขึ้นมาด้วย

          ในหนังสือเล่มนี้ เรากำลังพูดถึงรากฐานแห่งสังคมอริยะ และหนทางที่นำไปสู่ แทนที่จะมามัวพูดถึงสังคมอุดมคติว่าควรเป็นเช่นไร ถ้าเราปรารถนาจะช่วยโลกให้รอด เราจะต้องก้าวเดินไปด้วยตัวเองแทนที่จะมาขบคิดถึงแต่ทฤษฎีหรือคาดเดาถึงจุดหมายปลายทาง ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับเราแต่ละคนว่าจะสามารถค้นหาความหมายของสังคมอริยะได้อย่างไร และจะบรรลุถึงได้อย่างไร ข้าพเจ้าเพียงมุ่งหวังว่าการนำเสนอซึ่งเป้นวิถีแห่งนักรบซัมบาลานี้ อาจมีส่วนช่วยเกื้อหนุนให้เกิดการค้นพบได้อีกโสดหนึ่ง


สนใจทัวร์ทิเบต ดูรายละเอียดได้ที่
http://www.doubleenjoy.com/ทัวร์เที่ยวจีน/ทัวร์ทิเบต-ลาซา-รถไฟหลังคาโลก.aspx

ขอขอบคุณข้อมูล และภาพสวยๆ จาก
1. http://movie.sanook.com
2. http://www.bugaboo.tv
3. http://oldforum.serithai.net


วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ฮ่องกง



ฮ่องกง

          ฮ่องกง เป็นเสมือนประตูที่เปิดไปสู่ประเทศจีน เสน่ห์ของสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก อาหาร และเป็นแหล่งช้อปปิ้งในเกาะแห่งนี้ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาแวะเวียนมาทัวร์ฮ่องกงได้เสมอ ทุกคนทราบดีถึงความคึกคักในตัวเมือง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงมุมที่แสนเงียบสงบซึ่งจริงๆแล้วมีอยู่ทั่วไป มุมที่ดูเหมือนเวลาจะหยุดอยู่กับที่

          ในฮ่องกงนั้นแบ่งออกเป็น 4 เขตใหญ่ คือ เขตเกาลูน เขตเกาะฮ่องกง เขตนิวแทริทอรี่ส์ และ หมู่เกาะรอบนอก เขตเกาลูนและเขตนิวแทริทอรี่ส์ตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ทางตอนเหนือของอ่าววิคตอเรีย เกาะฮ่องกงเองตั้งอยู่ทางด้านใต้ของอ่าวตรงกันข้ามกับเกาลูน ส่วนหมู่เกาะรอบนอกนั้นหมายถึงบรรดาเกาะต่างๆกว่า 200 เกาะรอบๆบริเวณเกาะฮ่องกง

          เกาะฮ่องกงถือเป็นศูนย์กลางในบริเวณรอบอ่าววิคตอเรีย เขตธุรกิจหลักที่มีชื่อเสียงได้แก่ "ย่านเซ็นทรัล" ทางตะวันออกของย่านเซ็นทรัลที่เป็นเขตการค้าที่สำคัญ คือ ย่านหว่านไจ๋ ซึ่งเป็นย่านอาหารการกินและแหล่งสังสรรค์์ยามค่ำคืน ส่วนคอสเวย์เบย์เป็นแหล่งช้อปปิ้งที่คึกคักมากที่สุดในเกาะฮ่องกง นอกจากนี้บนเกาะฮ่องกงยังมียอดเขาวิคตอเรียพีกอันเป็นจุดสูงสุดของเกาะ นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์และเขตที่พักอาศัยในตัวเมืองได้

          ในเขตเกาลูน ย่านจิมซาจุ่ยและจอร์แดน เป็นบริเวณที่ชุกชุมไปด้วยโรงแรมและสถานที่ช้อปปิ้ง เช่นเดียวกันกับย่านหม่องก๊อกอันเป็นเขตช้อปปิ้งที่คึกคักอีกแห่งหนึ่งของฮ่องกง

          ฮ่องกงมีแหล่งท่องเที่ยวและจุดชมเมืองที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ตั้งกระจายอยู่ทั้งบนเกาะฮ่องกง เกาลูน และนิวเทอร์ริทอรี่ส์ หรือจะลองนั่งเรือไปสำรวจบนเกาะรายรอบต่างๆ ลองเลือกดูสักแห่งจากสถานที่ต่างๆด้านล่างนี้ รับรองว่าคุณจะไม่ผิดหวัง


วิคตอเรีย พีค
          หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของฮ่องกง เดอะ พีค เป็นจุดชมวิวเมืองที่ยอดเยี่ยมที่สุด คุณจะต้องทึ่งกับสีสันที่สวยงามของเส้นขอบฟ้า อ่าววิคตอเรียที่มีชื่อเสียงระดับโลก และตึกระฟ้าที่พุ่งทะยานขึ้นสูงตัดกับแนวเขาเขียวขจีอันแสนสงบ ยอดเขาแห่งนี้สร้างความประทับใจที่แตกต่างกันระหว่างช่วงเวลากลางวันและกลางคืน


เลดี้ส์ มาร์เก็ต
          ตลาดกลางแจ้งที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของฮ่องกง เลดี้ส์ มาร์เก็ตเป็นจุดหมายที่ต้องไปเยือนสำหรับคนรักแฟชั่นที่โปรดปรานการต่อรองราคากระเป๋า, เครื่องประดับ, ของเล่น, เครื่องสำอาง และของแต่งบ้านเล็กๆน้อยๆ ร้านแผงลอยต่างๆ ที่ตั้งกระจุกรวมตัวกันจนเกิดเป็นตลาดที่มีบรรยากาศสนุกสนานนี้ ตั้งอยู่บนถนนตุงชอย ในมงก๊ก เปิดตั้งแต่เที่ยงไปจนถึง 23.30 น. 


รีพัลส์ เบย์
          หาดทรายรูปจันทร์เสี้ยวแห่งนี้เป็นหาดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในฮ่องกง ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในหมู่ชาวฮ่องกงและนักท่องเที่ยว และยังใช้เป็นฉากในการถ่ายทำภาพยนตร์ไปหลายเรื่อง มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของเจ้าแม่กวนอิมและเจ้าแม่ทินโห่ว ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชาวประมง โดดเด่นอยู่ท่ามกลางสวนสวยที่ทอดยาวลงสู่ชายหาด ที่นี่มีคลับเฮ้าส์สไตล์จีนแบบดั้งเดิม และอาคารสไตล์อาณานิคม รีพัลส์ เบย์ ตั้งอยู่บนหาดรีพัลส์ เบย์ มีภัตตาคารและร้านค้าที่สามารถนั่งชมวิวทะเลได้หลายแห่ง 


อะเวนิว ออฟ สตาร์
          สถานที่รำลึกถึงอัจฉริยบุคคลที่มีคุณูปการต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยว มีลายพิมพ์มือดารา แผ่นหินจารึกชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงและประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวงการภาพยนตร์ รวมไปถึงร้านจำหน่ายของที่ระลึกเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องต่างๆ รูปปั้นจำลองรางวัลภาพยนตร์ฮ่องกง และประติมากรรมขนาดเท่าคนจริงของบรูซ ลี ดาราหนังกังฟูผู้เป็นตำนาน 


หอนาฬิกา
          หนึ่งในสัญลักษณ์ที่โดดเด่นในจิมซาโจ่ย แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของสถานีต้นทางของรถไฟสายเกาลูน-แคนตัน (KCR) สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1915 หอคอยทำจากอิฐสีแดงและหินแกรนิต สูง 44 เมตร เป็นอนุสรณ์ชวนให้รำลึกถึงสมัยอาณานิคม ปัจจุบันพื้นที่ของสถานีรถไฟได้กลายเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมฮ่องกง หลังคาทรงโค้งและดีไซน์ทางด้านสถาปัตยกรรมที่ดูทันสมัยกลายเป็นฉากหลังอันงดงามของหอนาฬิกาแห่งนี้ 


โกลเด้น โบฮิเนีย สแควร์
          ประติมากรรมรูป “ดอกชงโคบานตลอดกาล” (โกลเด้น โบฮิเนีย) เป็นของขวัญที่จีนแผ่นดินใหญ่มอบให้เพื่อแสดงถึงความยินดีที่ได้ฮ่องกงได้กลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดินแม่ หลังจากที่ต้องแยกกันเป็นเวลานานกว่า 150 ปี ใกล้กันมีอนุสาวรีย์ของการรวมกันเป็นหนึ่งที่จารึกลายมือของประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน โดยทุกๆเช้าจะมีพิธีเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา 


ฮ่องกงดิสนีย์แลนด์
          ขอเชิญชวนทุกท่านสู่อาณาจักรแห่งจินตนาการ ฉลองจิตวิญญาณแห่งแฟนตาซี โลกแห่งอนาคต และหัวใจรักการผจญภัย มิคกี้เมาส์รอต้อนรับคุณสู่ดินแดนแห่งความสุขที่สุดของโลกใบนี้ พร้อมเครื่องเล่นมากมายที่มีเฉพาะที่นี่ที่เดียวในฮ่องกง 


โอเชี่ยนปาร์คฮ่องกง
          เปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1977 เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมตลอดกาลของฮ่องกง ธีมปาร์คขนาด 80 เฮคตาร์ (200 เอเคอร์) นี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะฮ่องกง มีเครื่องเล่น นิทรรศการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมายรายรอบเขา รถกระเช้าที่เชื่อมพื้นที่ 2 ส่วนระหว่างยอดเขาสูงและพื้นที่ด้านล่าง ทำให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับวิวทิวทัศน์ตระการตาขณะโดยสาร และสิ่งดึงดูดใหม่ล่าสุดคือลูกหมีแพนด้ายักษ์ 2 ตัว และพิพิธภัณฑ์แมงกะพรุนทะเลแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 


วัดซิก ซิก หยวน หว่องไทซิน
          หว่องไทซินเป็นหนึ่งในวัดที่มีชื่อเสียงที่สุดในฮ่องกง ทุกๆปีจะมีนักท่องเที่ยวหลายล้านคนมาเยือน และยังถือเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่ง บริเวณวัดงดงามด้วยอาคารที่ตกแต่งแบบจีนโบราณแม้จะตั้งอยู่ท่ามกลางความเป็นเมืองของเกาลูน วัดแห่งนี้เป็นที่รวมความเชื่อทางศาสนาถึง 3 ศาสนา ได้แก่ เต๋า พุทธ และขงจื๊อ 


เทมเปิล สตรีท
          แหล่งช้อปปิ้งอันน่าทึ่ง มีแผงลอยเปิดไฟตั้งขายสินค้าราคาไม่แพง อาทิ เสื้อผ้า ปากกา นาฬิกา ซีดี คาสเซ็ทเทป อุปกรณ์ไฟฟ้า ฮาร์ดแวร์ และกระเป๋าเดินทาง สุดถนนยังเต็มไปด้วยหมอดูดวงโชคชะตา และการแสดงงิ้วแบบสดๆ เปิดระหว่าง 16.00 น. – เที่ยงคืน แต่จะเริ่มมีสีสันจริงจังหลังพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว 

          นอกเหนือจากนี้ ลองแวะเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง ซึ่งรวบรวมไว้ในเว็บไซต์ภาษอังกฤษของเรา เพราะเมืองที่มีสีสันของเอเชียแห่งนี้มีชีวิตชีวาตลอดเวลาทั้งในช่วงกลางวัน และกลางคืน



สนใจทัวร์เที่ยวฮ่องกง มาเก๊า ดูรายละเอียดได้ที่
http://www.doubleenjoy.com/ทัวร์เที่ยวฮ่องกง-มาเก๊า/ทัวร์ฮ่องกง-มาเก๊า.aspx

ขอขอบคุณข้อมูล และภาพสวยๆ จาก
1. www.thaitravelcenter.com
2. www.discoverhongkong.com
3. www.atimetraveller.com
4. www.grandtourchina.com

พระราชวังโปตาลา (Potala Palace)




พระราชวังโปตาลา (Potala Palace)

          ทิเบต (Tibet) ตั้งอยู่ในใจกลางของทวีปเอเชีย ระหว่างประเทศจีนกับอินเดีย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร ในบริเวณที่มีภูเขา และที่ราบสูงที่สุดในโลก มีอากาศแห้งและหนาวเย็น รวมทั้งที่ราบกลางหุบเขา ริมแม่น้ำอันกว้างใหญ่หลายสาย อันเป็นที่พำนักพิงของชาวทิเบต ผู้ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง มาเป็นเวลาช้านาน และมีชีวิตความเป็นอยู่ แตกต่างจากผู้คนในประเทศเพื่อนบ้าน ชาวทิเบตได้มีการพัฒนาทางวัฒนธรรม ที่มีเอกลักษณ์ในตนเอง ทั้งยังมีการพัฒนาด้านสติปัญญา และจิตใจ ได้แก่ การมีภาษาที่โดดเด่น มีวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ และมีผลงานศิลปะที่น่ามหัศจรรย์ นอกจากนี้ อารยธรรมของชาวทิเบต ซึ่งสืบเนื่องมาเป็นเวลาหลายพันปีนั้น ยังเป็นอารยธรรมที่สูงส่ง และมีคุณค่าสืบทอดต่อกันมา เป็นมรดกของมนุษยชาติเขตปกครองตนเองทิเบต หรือ ทิเบต เป็นเขตปกครองตนเองของประเทศจีน มีเชื้อสายมาจากชาวอินเดีย ชาวทิเบต มีพระเป็นผู้นำของเขตปกครองพิเศษนี้ ชนพวกนี้นับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน คล้ายกับประเทศภูฏาน ทิเบตตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย เป็นที่ราบสูงที่สูงที่สุดในโลก จนได้รับฉายาว่า หลังคาโลก ทิเบตมีอากาศที่หนาวเย็นมาก และมีความกดอากาศ และอ๊อกซิเจนที่ต่ำ ฉะนั้นผู้ที่จะมาในทิเบตจะต้องปรับสภาพร่างกายก่อน และด้วยเหตุนี้ประชากรที่อาศัยอยู่ในทิเบตจึงน้อย พลเมืองชายของทิเบตกว่าครึ่งบวชเป็นพระ ก่อนจีนจะยึดครองทิเบต ทิเบตมีสามเณริกามากที่สุดในโลก ในทิเบตเคยมีคัมภีร์มากมาย พลเมืองนับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด จนได้รับฉายาว่า "แดนแห่งพระธรรม" (land of dharma)

          พระราชวังโปตาลา ตั้งอยู่บนยอดเขาแดง บนความสูงประมาณ 300 เมตร พระราชวังโปตาลาแห่งนี้มีประวัติอันยาวนานมากว่า 1,300 ปี ที่มีความสวยงามและอลังการมาก มีห้องมากกว่า 1,000 ห้อง ซึ่งนับว่าเป็นศิลปสุดยอดฝีมือที่สวยงามที่สุดของทิเบต ภายในพระราชวังโปตาลานี้จะมีอาคาร 13 ชั้น สูงประมาณ 400 เมตร

          พระราชวังโปตาลา สร้างขึ้นมาในคริสตวรรษที่ 7 โดยกษัตริย์ ซงจ้าน กัมโป กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต ที่รวบรวมชาวธิเบตให้เป็นอันหนี่งอันเดียวกันได้สำเร็จ ซึ่งแรกเริ่มก็เพียงแต่จะสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นป้อมและตำหนักเล็กๆให้แก่พระมเหสีเจ้าหญิงเหวินเฉิง (ประเทศจีน) และเจ้าหญิงภริคุติ (ประเทศเนปาล) ของพระองค์เท่านั้น แต่ต่อมาทรงใช้ป้อมแห่งนี้เป็นสถานที่ในการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่พระองค์ได้เปลี่ยนความเชื่อถือจากการนับถือลัทธิบอน อันเป็นความเชื่อถือเก่าแก่แต่โบราณกาลของชาวธิเบตในสมัยนั้นเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทำให้พระพุทธศาสนา เริ่มวางหลักปักฐานในธิเบต และเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งมีพระเป็นผู้ปกครอง ปัจจุบันนี้รูปทรงเดิมของป้อมและพระตำหนักดังกล่าวสองหลังนี้ก็ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ท่ามกลางสิ่งก่อสร้างที่ตบแต่งเพิ่มเติมใหม่ ที่ต่อเติมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

          สำหรับสิ่งที่บูรณะซ่อมแซมเพิ่มเติม ในช่วงหลังๆมานั้นส่วนใหญ่จะซ่อมแซมบูรณะในสมัยขององค์ดาไลลามะที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2188 ถึง 2236 (องค์ดาไลลามะองค์ปัจจุบันนี้คือองค์ที่ 14) เพื่อให้เป็นพระราชวังฤดูหนาว พระราชวังโปตาลาแห่งนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนของพระราชวังสีขาว สีแดง และสีเหลือง สำหรับพระราชวังสีขาวนั้น เป็นส่วนของสังฆวาส สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ โรงเรียน และโรงพิมพ์ ส่วนที่เป็นสีแดงนั้นจะเป็นส่วนของพุทธาวาส สำหรับปฏิบัติกิจของสงฆ์ ประกอบไปด้วยสถูปทองซึ่งภายในบรรจุพระศพขององค์ดาไลลามะทั้ง 8 องค์เอาไว้ และส่วนที่เป็นสีเหลืองที่ถูกเชื่อมโยงอาคาร เป็นที่ที่ประชุมสงฆ์ พระวิหาร โบสถ์ และห้องสมุดที่ใช้เก็บพระไตรปิฏก
พระราชวังโปตาลา (Potala Palace)
          พระราชวังโปตาลา หรือ หม่าปู้ยื่อซาน เป็นการตั้งชื่อเลียนเสียงโปตาลกะบรรพตในชมพูทวีป ที่ซึ่งชาวทิเบตเชื่อว่าเป็นที่สถิตขององค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
          วังโปตาลา ตั้งอยู่บนยอดเขาแดง บนความสูงประมาณ 300 เมตร พระราชวังโปตาลาแห่งนี้มีประวัติอันยาวนานมากว่า 1,300 ปี ที่มีความสวยงามและอลังการมาก มีห้องมากกว่า 1,000 ห้อง ซึ่งนับว่าเป็นศิลปสุดยอดฝีมือที่สวยงามที่สุดของทิเบต ภายในพระราชวังโปตาลานี้จะมีอาคาร 13 ชั้น สูงประมาณ 400 เมตร
          พระราชวังโปตาลา สร้าง ขึ้นมาในคริสตวรรษที่ 7 โดยกษัตริย์ ซงจ้าน กัมโป กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต ที่รวบรวมชาวทิเบตให้เป็นอันหนี่งอันเดียวกันได้สำเร็จ ซึ่งแรกเริ่มก็เพียงแต่จะสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นป้อมและตำหนักเล็กๆให้แก่พระ มเหสีเจ้าหญิงเหวินเฉิง (ประเทศจีน) และเจ้าหญิงภริคุติ (ประเทศเนปาล) ของพระองค์เท่านั้น แต่ต่อมาทรงใช้ป้อมแห่งนี้เป็นสถานที่ในการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระ สัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่พระองค์ได้เปลี่ยนความเชื่อถือจากการนับถือลัทธิบอน อันเป็นความเชื่อถือเก่าแก่แต่โบราณกาลของชาวธิเบตในสมัยนั้นเปลี่ยนมา นับถือศาสนาพุทธ และทำให้พระพุทธศาสนา เริ่มวางหลักปักฐานในธิเบต และเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาตามลำดับ
          อย่างไรก็ตาม วังโปตาลาก็ประสบภัยพิบัติในเวลาต่อมา ในราวปี ค.ศ. 762 ในรัชสมัยของกษัตริย์ชื่อซงเต๋อจั๊น เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่เนื่องจากฟ้าผ่า ต่อมาอีกไม่ถึงร้อยปี ในรัชสมัยของกษัตริย์ หล่างต๋าหม่า (ค.ศ.838-842) พระองค์ไม่เลื่อมใสในศาสนาพุทธ จึงเกิดการทำลายล้างพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ท่ามกลางความไม่สงบและไฟสงครามจากพวกกบฎ วังโปตาลาประสบความเสียหายอย่างหนัก มีเพียงพอพระโพธิสัตว์กวนอิม และคูหาวิปัสสนาของราชันซงจั้นกันปู้เพียงสองส่วนเท่านั้น ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ท่ามกลางสิ่งก่อสร้างที่ตบแต่งเพิ่มเติมใหม่ ที่ต่อเติมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสร้างใหม่ในศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา
          พระราชวังโปตาลา เคยเป็นที่ประทับของมหาราชาและอัครเทวีในอดีต แต่พอในสมัยขององค์ทะไลลามะที่ 5 เป็นต้นมา วังโปตาลาก็เปลี่ยนเป็นที่ประทับของสงฆ์สูง กลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนา ควบกับการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน ปัจจุบันนี้ แม้องค์ทะไลลามะจะมิได้ประทับอยู่ที่วังแห่งนี้แล้ว ทว่าวังโปตาลาก็ยังพระพำนักอยู่เป็นจำนวนมาก
          เดือนธันวาคม ค.ศ. 1994 องค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังโปตาลา เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นเหตุสำคัญให้นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศทั่วโลก พากันหลั่งไหลมาเยือนกรุงลาซาของทิเบต โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่วังโปตาลา
          ด้วยวังโปตาลา เป็นศูนย์รวมของพุทธศาสนาแบบทิเบต และยังเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ ที่รวบรวมทั้งประวัติศาสตร์และสิ่งล้ำค่าอันเป็นมรดกของชาวทิเบตไว้อย่างน่าทึ่ง หากจะชมวังโปตาลาให้ทั่วถึง จะต้องใช้เวลาประมาณ 2.30-3 ชั่วโมง แต่การที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากอย่างล้นหลามในปัจจุบัน จึงอนุญาตให้ผู้ถือบัตร สามารถเดินชมภายในวังได้เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากมีผู้เข้าชมมากเกินไป จึงต้องระบายคนเข้าออกให้สัมพันธ์กัน และนักท่องเที่ยวควรเชื่อฟังเคารพกฎและปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด

ส่วนประกอบหลักของพระราชวังโปตาลา
          ในปัจจุบัน วังโปตาลาประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างหลายส่วนบนเนินเขาแดง โดยส่วนที่เด่นเป็นสง่าที่สุด คือหอสีแดงตรงกลางสูง 13 ชั้น เรียกว่า “หงกง” แปลว่า วังแดง มีความสูงถึง 117 เมตร นับเป็นส่วนที่สูงที่สุดของวังแห่งนี้ โดยเมื่อรวมความสูงของเมืองลาซาที่วัดจากระดับน้ำทะเล ซึ่งอยู่ที่ 3,650 เมตรแล้ว ยอดสูงสุดของวังโปตาลาจึงอยู่ที่ 3,770 เมตรจากระดับน้ำทะเล
          วังแดง หรือ หงกง ใช้เป็นที่ประดิษฐานสถูปที่เก็บพระศพขององค์ทะไลลามะหลายพระองค์ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของหอพระพุทธและพระโพธิสัตว์จำนวนมาก
          วังขาว หรือ ไป๋กง แปลว่า ใช้เป็นที่ประกอบพิธีศาสนา และบริหารราชการแผ่นดินของทิเบต ทั้งยังใช้เป็นที่ประทับในฤดูหนาว ขององค์ทาไลลามะตั้งแต่องค์ที่ 5 เป็นต้นมา
          วังโปตาลาที่ตั้งบนเขาเนินแดงนั้น ด้านหลังพิงทิศเหนือ หันด้านหน้าไปทางทิศใต้ จากด้านตะวันตกจรดด้านตะวันออก มีความยาวถึง 360 เมตร เฉพาะพื้นที่ใช้สอยของสิ่งปลูกสร้าง มีมากกว่า 130,000 ตารางเมตร หอสีแดงหรือ “วังแดง” ที่อยู่ใจกลางนั้น ขนาบด้วยอาคารสีขาวทั้งซ้ายและขวา ส่วนอาคารสีขาวทางด้านทิศตะวันตก ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวังขาว เป็นแต่เพียงอาคารที่พักของพระสงฆ์ ที่มีหน้าที่ดูแลและประกอบพิธีทางศาสนาในวังโปตาลา นอกจากนี้ ยังมีแผงกำแพงสีขาวขนาดใหญ่อีกส่วนหนึ่ง อยู่ด้านหน้าของ “วังแดง” กำแพงแผงนั้ใช้เป็นที่กางหรือขึงผ้า “ทังก้า” ขนาดใหญ่ ในช่วงที่มีเทศกาล “ไซ่โฝ” หรือเทศกาลกางผ้าพระกบณ กำแพงสีขาวนี้ ต่อเชื่อมกับบันไดหินที่เยื้องยักเฉียงไปเฉียงมา ซึ่งเป็นทางเดินขึ้นสู่วังโปตาลา
          วังโปตาลานี้ยังมีสถานที่อีกหลายแห่ง ที่รวมกันเป็นส่วนหนึ่งของวังโปตาลา อาคารสีเหลืองขนาดย่อมที่อยู่ระหว่างวังแดงและวังขาว เป็นที่เก็บผ้าทังก้าขนาดยักษ์ เพื่อใช้ในเทศกาลไซ่โฝ มีโรงพิมพ์พระคัมภีร์ โรงเรียนพุทธศาสนาอย่างทิเบต สวน และสนาม มีที่คุมขัง โดยทั้งหมดนี้ ถูกล้อมรอบด้วยกำแพงลักษณะแบบกำแพงเมืองอีกชั้นหนึ่ง มีป้อมและประตูทางเข้าเป็นจุดๆ รวมทั้งมีทางให้รถยนต์วิ่งขึ้นไปถึงด้านหลังของเนินเขาแดงวังโปตาลา เพื่อสำหรับอนุเคราะห์พระสงฆ์ผู้สูงอายุ

วังแดง หรือ หงกง
           วังแดง ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1690 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานสถูป ที่ใช้เก็บพระศพของทะไลลามะ องค์ที่ 5 ซึ่งต่อมาได้ประดิษฐ์ฐานสถูปของทะไลลามะองค์ต่อๆ มาอีกหลายพระองค์ แต่วังแดงหรือหงกง ก็มีส่วนที่เป็นสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมมาตั้งแต่ศตวรรษที่เจ็ด นั่นคือตำหนักโพธิสัตว์กวนอิม และคูหาธรรมราชา
           ตำหนักหรือห้องหอที่ใหญ่ที่สุดของวังแดง มีชื่ออย่างย่อว่า ซีต้าเตี้ยน แปลว่าตำหนักใหญ่ปิจฉิมทิศ หรือตำหนักใหญ่ทิศตะวันตก ออกเสียบแบบทิเบตว่า โช่ชินหนู่ ซือซีผิงโช่ ตำหนักนี้ถือเป็นอนุสรณ์ของทะไลลามะองค์ที่ 5 มีเนื้อที่ราว 725 ตารางเมตร มีเสาขนาดใหญ่ค้ำยันถึง 44 ต้น ผนังทั้งสี่ด้าน มีภาพเขียนชีวประวัติของทะไลลามะองค์ที่ 5 ที่เด่นเป็นพิเศษ คือภาพหนึ่งทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นภาพที่องค์ทะไลลามะเข้าเฝ้าองค์ซุ่นจื้อ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิง
           ตรงกลางตำหนักมีพระที่นั่งขององค์ทะไลลามะอยู่ ซึ่งเป็นที่ประทับเดียวกับที่ชางยางเจียโช่ ทะไลลามะองค์ที่ 6 ซึ่งเป็นองค์เดียวที่ไม่มีสถูปอยู่ในวังโปตาลา เสด็จขึ้นรับตำแหน่งทะไลลามะของทิเบต เมื่อปี ค.ศ. 1697 ด้านบนของพระที่นั่ง แขวนแผ่นป้ายขนาดใหญ่ มีอักษรจีน 4 คำ ซึ่งเป็นอักษรพระราชทานจากจักรพรรดิเฉียนหลง เขียนไว้ว่า “หย่งเหลียนชูตี้” มีความหมายว่า แหล่งกำเนิดแห่งดอกบัว
          สิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งในวังแดงนี้คือ ม่านประดับทำจากผ้าต่วนหลากสี และเย็บปักถักร้อยด้วยเส้นด้ายทองคำ เล่ากันว่าในสมัยนั้น จักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิงถึงกับให้สร้างโรงงานตัดเย็บผ้าม่านดังกล่าวขึ้นมาหนึ่งหลัง ใช้เวลาประดิษฐ์นานกว่าหนึ่งปีจึงแล้วเสร็จ แล้วพระราชทานม่านประดับชุดนี้มาเป็นของขวัญ เพื่อเฉลิมฉลองการสร้างวังแดง ในปี ค.ศ. 1696
          ห้องประดิษฐานสถูปของทะไลลามะ พระศพขององค์ทะไลลามะทุกพระองค์ ไม่ได้ประกอบฌาปนกิจ จึงไม่มีอัฐิให้บรรจุ แต่พระศพของพระทะไลลามะ ต้องได้รับการปฏิบัติแบบถ่าจั้งหรือฝังในเจดีย์ ซึ่งเป็นประเพณีที่พิเศษของชาวทิเบต เฉพาะองค์ทะไลลามะหรือพระลามะที่เสมือนสมมุติเทพเท่านั้นที่จะทำพิธิถ่าจั้งได้ สถูปที่บรรจุพระศพขององค์ทะไลลามะในวังแดงนั้น มีอยู่ด้วยกัน 8 องค์ คือ ตั้งแต่องค์ที่ 5 ถึงองค์ที่ 13 เว้นเฉพาะองค์ที่ 6 ทั้งนี้เนื่องจากองค์ที่ 6 ถูกตราหน้าว่าเป็นของปลอม จึงถูกขับออกจากวังโปตาลา เสียก่อน
          คูหาธรรมราชา หรือ ฝ่าหวางต้ง เป็นหนึ่งในสองสถานที่ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างแรกเริ่มของวังโปตาลา ห้องนี้เป็นห้องขนาดเล็ก เนื้อที่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร เป็นสถานที่กษัตริย์ซงจั้นกันปู้ ใช้นั่งวิปัสสนาศึกษาธรรมะ ที่นำเข้ามาสู่ทิเบตโดยองค์หญิงจากจีนและเนปาล ภายในคูหาแห่งนี้ นอกจากรูปเหมือนของกษัตริย์ซงจั้นกันปูแล้ว ยังมีรูปเหมือนของมเหสีชาวทิเบต อัครเทวีของเนปาลและจีน ทั้งยังมีรูปเหมือนของราชฑูตลู่ตงจั้น และอำมาตย์นักปราชญ์ทุนหมี่ซังปู้จา ผู้ประดิษฐ์อักษรทิเบตอีกด้วย
          ตำหนักพระโพธิสัตว์กวนอิม หรือเสิ้งกวนอิมเตี้ยน มีความหมายว่า ตำหนักพระพุทธที่เหนือธรรมดา เหนือประตูทางเข้าตำหนักพระโพธิสัตว์กวนอิม มีแผ่นป้ายที่พระราชทาน โดยกษัตริย์ถงจื้อแห่งราชวงศ์ชิง เขียนด้วยภาษาทิเบตและจีน อักษรจีน 4 คำนั้นเขียนว่า “ฝูเถียนเมี่ยวกั่ว” แปลว่า ผืนนาอันอุดมสมบูรณ์นำมาซึ่งพืชผลที่งดงาม
          ในตำหนักพระโพธิสัตว์กวนอิมนี้ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวทิเบตนับถือมากอยู่สิ่งหนึ่ง คือรูปพระโพธิสัตว์ที่เป็นไม้จันทร์หอม อายุพันกว่าปี โดยชาวทิเบตเชื่อว่า เป็นเทพประจำกายของกษัตริย์ซงจั้นกันปู้ และเป็นเทวรูปที่เกิดขึ้นเอง ไม่มีใครทำขึ้น รวมทั้งมีตำนานความเป็นมาที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง นอกจากนี้ ในตำหนักพระโพธิสัตว์กวนอิม ยังมีรูปพระแม่กวนอิมพันกรพันเนตร รูปเหมือนพระอาจารย์เจ้าจงคาปา ซึ่งล้วนแต่เป็นสมบัติล้ำค่าเคียงคู่กับประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาวทิเบต
          ตำหนักพิภพอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ ซ่าซงหล่างเจี๋ยเตี้ยน อยู่บนชั้นสุดตรงกึ่งกลางของวังแดง สร้างในสมัยพระทะไลลามะองค์ที่ 7 เป็นห้องที่เคยใช้ประกอบพิธีสำคัญๆ ทั้งทางศาสนาและการเมืองมาโดยตลอด เช่นพิธีเสี่ยงทายคัดเลือกองค์ทะไลลามะหรือองค์ปันเชนลามะขั้นสุดท้ายที่เรียกว่า พิธีจินผิงเช่อเชียน
          องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ 11 หน้า สูงราว 3 เมตร สร้างจากเงินบริสุทธิ์ กว่าหนึ่งหมื่นตำลึง สร้างในปีค.ศ. 1903 โดยทะไลลามะองค์ที่ 13 พระพักตร์ขององค์พระปิดทองเหลืองอร่าม

วังขาว หรือ ไป๋กง
          วังขาว สร้างในปี ค.ศ. 1645 โดยคำบัญชาของอาว่าง หลัวซังเจียโซ่ หรือทะไลลามะองค์ที่ 5 สร้างอยู่ 3 ปีจึงแล้วเสร็จ ใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา และบริหารราชการแผ่นดินของทิเบตขององค์ทะไลลามะตั้งแต่องค์ที่ 5 เป็นต้นมา ตั้งอยู่ทางด้านขวาหรือทิศตะวันออกของวังโปตาลา
          จิตรกรรมฝาผนังวังขาว ผนังทางด้านตะวันออก มีภาพเมืองฉางอานสมัยราชวงศ์ถังที่โอฬารตระการตา และภาพตำนานราชฑูต “ถู่โป” ที่ฉลาดหลักแหลม สามารถแก้ไขปัญหายากแสนยาก 5 ข้อ ที่ราชสำนักถังยกเป็นเงื่อนไขในการสอบผ่าน เพื่อสู่ขอองค์หญิงจากจีนไปเป็นชายาของทิเบตราชัน ผนังทางด้านทิศเหนือ มีภาพในปี ค.ศ. 641 ที่กษัตริย์ถังไท่ทรงยินยอมยกองค์หญิงเหวินฉิง ให้เป็นพระชายาแก่กษัตริย์ถู่โป(ทิเบต) นอกจากนี้ยังมีภาพของวังโปตาลาที่สร้างอยู่บนเนินเขาแดง โดยมีจุดมุ่งหมายใหญ่คือ เพื่อให้สมเกียรติกับการได้องค์หญิงกรุงจีนมาเป็นพระชายา
          ส่วนบนผนังทางด้านทิศใต้ มีสิ่งที่สำคัญคือ รอยประทับฝ่ามือของทะไลลามะองค์ที่ 5 โดยมีกระจกครอบอยู่ ทั้งนี้ เนื่องจากในบั้นปลายของท่าน ท่านต้องการสนับสนุนให้ศิษย์ที่ชื่อตี้ซือ ซังเจี๋ยเจียโช่ ให้ว่าราชการและศาสนกิจแทนท่าน แต่เนื่องจากบารมียังไม่พอ องค์ทะไลลามะจึงได้ประทับฝ่ามือเป็นรอยไว้ให้ผู้คนรับรู้ในเจตนารมณ์ของท่าน
          ตำหนักใหญ่บูรพา หรือ ตงต้าเตี้ยน มีเสาขนาดใหญ่ค้ำยันหลายสิบตัน มีเนื้อที่ 717 ตารางเมตร ตรงกลางของตำหนักเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระทะไลลามะ มีแผ่นป้ายขนาดใหญ่เขียนอักษรจีน 4 คำ ความว่า “เจิ้นซีสุยเจียง” มีความหมายว่า “สนับสนุนพุทธศาสนา เพื่อปกปักรักษาเขตแดน” พระพุทธรูปท่านจงคาปา ตั้งอยู่ในตำหนักตงต้าเตี้ยน ซึ่งชาวทิเบตเคารพบูชาเหมือนหนึ่งพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง
          ตำหนักตงต้าเตี้ยน สร้างในเวลาเดียวกันกับวังขาว ในปีค.ศ. 1645 ตั้งอยู่ในบริเวณชั้นที่ 4 ของวังขาว และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1653 ซึ่งเป็นปีทีทะไลลามะองค์ที่ 5 ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดแห่งสงฆ์ ควบกับการเป็นผู้ปกครองแผ่นดินทิเบต ทะไลลามะองค์ต่อๆมา ต่างได้เข้าพิธีรับพระราชทานสมัญญา เป็นผู้นำทางศาสนาและการปกครองเรื่อยมา
          องค์ทาไลลามะจะประทับ ณ พระตำหนักขาวเฉพาะในฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงกันยายน จะเสด็จประทับ ณ ตำหนัก นอร์บุหลิงฆา
          พระราชวังโปตาลาเป็นที่ประทับของทะไลลามะ ตั้งแต่องค์ที่ 5 จนมาถึงองค์ที่ 14 ก็กลายเป็นเพียงตำนาน เมื่อกองทัพแดงของจีนบุกเข้ายึดครองในทิเบตในปี พ.ศ.2493 ส่งผลให้เกิดจราจลในกรุงลาซา จนในที่สุด วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2502 ทะไลลามะองค์ที่ 14 ต้องเสด็จออกจากวังโปตาลาไปลี้ภัยในประเทศอินเดีย ตราบจนวันนี้


สนใจทัวร์ทิเบต ดูรายละเอียดได้ที่
http://www.doubleenjoy.com/ทัวร์เที่ยวจีน/ทัวร์ทิเบต-ลาซา-รถไฟหลังคาโลก.aspx

ขอขอบคุณข้อมูล และภาพสวยๆ จาก
1. www.oceansmile.com
2. www.bloggang.com