วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

มหานครฉงชิ่ง ประเทศจีน


มหานครฉงชิ่ง

          โลกของเราทุกวันนี้มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หายสิ่งหลายอย่างมีการพัฒนาขึ้นตามยุคสมัย ไม่เว้นแต่ประเทศไทย และอีกหลายๆ ประเทศ ทุกมุมของโลก
          ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างปัจจุบันทันด่วน บรรดาเมืองใหญ่-น้อยต่างๆ ในประเทศจีน ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา “ฉงชิ่ง” นับเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วฉับไว รวดเร็วชนิดที่หากใครเว้นว่างจากการไปเยือนเมืองนี้ 7-8 ปี กลับไปอีกที อาจจะจำหลายๆ ย่าน หลายๆ มุมในเมืองนี้ไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนไปชนิดที่แทบจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินกันเลยทีเดียว

          ฉงชิ่ง 1 ใน 4 มหานคร “ฉงชิ่ง”(Chongqing) เดิมเป็นเมืองเอกที่ขึ้นกับมณฑลเสฉวน แต่ด้วยชัยภูมิที่ตั้งที่เหมาะสม และเป็นเมืองที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก (ปัจจุบันมีกว่า 30 ล้านคน) ในปี ค.ศ.1997 รัฐบาลจีนได้ประกาศยกฐานะฉงชิ่งเป็น 1 ใน 4 มหานครของเมืองจีน ที่นอกจากฉงชิ่งแล้ว ก็มี เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และ เทียนสิน ขึ้นต่อรัฐบาลกลางจีนโดยตรง นั่นจึงทำให้ฉงชิ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว กลายเป็นมหานครใหญ่อันดับต้นๆ ที่มีฐานะและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีเยี่ยม อีกทั้งยังเป็นฮับสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และเมืองใหญ่ๆ ของจีนตอนล่าง โดยล่าสุด ทางสายการบินแอร์เอเชีย ได้เปิดเส้นทางบิน “กรุงเทพฯ-ฉงชิ่ง” ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้า และด้านอื่นๆ


          สำหรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของฉงชิ่งนั้น นอกจากจะดูได้ทั่วไปในเมืองใหญ่เมืองนี้แล้ว สิ่งที่เมืองฉงชิ่งเขาภูมิใจนำเสนอ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวล้ำของเมืองนี้ ก็คือ ที่พิพิธภัณฑ์ประจำเมืองที่อยู่ติดใกล้ๆ กับท่าเรือเฉาเทียนเหมินแห่งแม่น้ำแยงซีเกียง โดยงานนี้ พาไปดูไฮไลต์สำคัญของเมืองนี้ นั่นก็คือ โมเดลการวางผังเมือง ที่ย่อส่วนลงมาให้เราเห็นเมืองฉงชิ่งได้ถนัดตาขึ้น ว่า เมืองนี้ภายหลังจากการสร้างเมืองเป็นมหานครทางรัฐบาลจีนได้เนรมิตสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ขึ้นมา โดยใช้วิธีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบมีการสร้างโมเดลประกอบ เพื่อกำหนดย่าน-โซนต่างๆ ของเมืองไว้อย่างชัดเจน
          ในผังเมืองจำลองนี้เรายังได้เห็นถึงกายภาพของเมืองฉงชิ่ง ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะในหุบเขา มีแม่น้ำสำคัญ 2 สาย คือ “แม่น้ำเจียหลิง” หรือ เจียหลิงเจียง (สายรอง) ที่ไหลมาจากจิ่วไจ้โกวมารวมกับ “แม่น้ำแยงซีเกียง” ที่เมืองนี้ พูดถึงแม่น้ำแยงซีเกียงแล้ว ฉงชิ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการล่องเรือสำราญท่องเที่ยวสัมผัสทัศนียภาพ 2 ฟากฝั่งของลำน้ำสายนี้โดยไปสิ้นสุดตามเมืองต่างๆ ตามระยะล่องใกล้ไกล ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในจุดขายทางการท่องเที่ยวสำคัญของเมืองนี้
          ขณะที่ใครที่ไม่ได้ล่องเรือ ในยามค่ำคืนที่นี่ก็มีกิจกรรมล่องเรือชมทัศนียภาพของแสงสีไฟยามราตรีในแม่น้ำประจำเมือง 2 สาย โดยสิ่งที่เขาภูมิใจนำเสนอ ก็คือ แสงสีแห่งความทันสมัยจากสิ่งก่อสร้างของเมืองนี้ ซึ่งหากใครอยากจะออกทัศนาเมืองนี้ ฉงชิ่งก็มีจุดสนใจชวนชม ชิม ช้อป อาทิ “สมาคมหูกว่าง” เป็นสถานที่เก่าแก่ที่บอกเล่าความมาเป็นไปต้นกำเนิดเมืองนี้ในยุคโบราณ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงในลักษณะพิพิธภัณฑ์, “ศาลามหาประชาคม” (ต้าหลี่ถัง) หนึ่งในสัญลักษณ์ประจำเมือง
          
          “เมืองโบราณ” เมืองเก่าในราชวงศ์ซ่ง ที่อนุรักษ์ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ยล, “หงหยาต้ง” คอมเพล็กซ์ในรูปทรงอาคารโบราณขนาดใหญ่ ภายในมีร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ร้านขายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ ที่นี่ย่ามค่ำคืนถือเป็นจุดนัดพบพักผ่อนของชาวเมือง และจุดชมวิวชั้นดี อีกทั้งยังเป็นจุดถ่ายรูปที่สำคัญของนักท่องเที่ยวอีกด้วย
          นอกจากนี้ ฉงชิ่ง ยังมี ถนนคนเดิน “เจี่ยฟังเป่ย” แหล่งชอปปิ้งสินค้าหลากหลายทั้งของที่ระลึก สินค้าแบรนด์เนม และของกินสารพัดอย่าง เหมาะกับพฤติกรรมนักช้อปของคนไทยไม่น้อย ต้าจู๋ ผาหินแกะสลัก นอกจากสิ่งน่าสนใจในตัวเมืองแล้ว ออกนอกเมืองไป ฉงชิ่งยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในระดับมรดกโลกในสัมผัสกัน เริ่มด้วย “ต้าจู๋” หน้าผาหินแกะสลัก ที่ตั้งอยู่ ณ อ.ต้าจู๋
           ผาหินแกะสลักในต้าจู๋มีจุดที่เป็นไฮไลท์ที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่อลังการที่สุดและสวยที่สุดนั้นอยู่ที่ “เป๋าติ่ง” ผาแกะสลักเป๋าติ่ง เริ่มสร้างตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ซ่งไปจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง โดยผู้สร้างคนแรกเป็นพระชื่อ “เจ้า ซื่อ เฟิ่ง” ที่เริ่มออกบวชตั้งแต่ 5 ขวบ

 

          ภาพแกะสลักที่นี่ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมนูนสูง ที่แกะกว้านลูกลงไปจนเห็นรูปลักษณะชัดเจน อุดมไปด้วยชีวิตชีวา และลีลาความสวยงาม อีกทั้งยังมีการลงสีสันหลากหลาย แถมบางจุดยังมีประติมากรรมลอยตัวให้ยลกันอีกต่างหาก ทั้งนี้ คนโบราณเชื่อว่า เป๋าติ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จึงมีการแกะสลักขึ้นที่นี่ เพื่อให้เป็นศาสนสถาน ซึ่งมีทั้งความเชื่อของพุทธแบบมหายานและของลัทธิเต๋า โดยมีภาพเด่นๆ อาทิ ถ้ำปฏิบัติธรรม ที่แกะเป็นภาพพระตัวแทนพระพุทธเจ้ากับสาวกอีก 12 รูป แสดงธรรม ภาพสลักเทพเจ้าต่างๆ พระนอนองค์โตยาว 32 เมตร สูง 7 เมตร ภาพคำสอนขงจื้อ ภาพนิทานพื้นบ้าน ภาพวิถีชีวิตยุคโบราณ ภาพความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ภาพการตัดสินของคณะกรรมการตัดสินความดีความชั่วว่าเมื่อตายแล้วคนๆ นั้น ควรขึ้นนรกหรือสวรรค์ ซึ่งมีภาพประกอบเป็นนรกสวรรค์อย่างน่ายล
และภาพไฮไลต์อยู่ที่รูปเจ้าแม่กวนอิมพันมือที่แกะสลักได้อย่างวิจิตรน่าทึ่ง เพียงแต่ว่าช่วงนี้อยู่ในระหว่างปรับปรุง จึงทำให้ให้ไม่ถนัดและยากต่อการหามุมบันทึกภาพ ด้วยความวิจิตอลังการ และความเพียรพยามอันเป็นเลิศของคนโบราณในการเนรมิตผาหินแห่งนี้ให้กลายมาเป็นแดนธรรมอันน่าทึ่ง ทางองค์การยูเนสโกจึงประกาศให้ที่นี่เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ.1999 เรียกว่าเหมาะสมกับสถานที่อันทรงคุณค่าแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง


          สะพานฟ้า อู่หลง ฉงชิ่ง มี “อู่หลง” (Wulong) เป็นเมืองตากอากาศ ที่แวดล้อมไปด้วยขุนเขา ทัศนียภาพสวยงาม อากาศดี และมากไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ ซึ่งในปัจจุบันนี้ทางการจีนเขากำลังสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ สำหรับคนไทยที่ไม่สันทัดกับวิถีแบบจีนโดยเฉพาะเรื่องห้องน้ำปราบเซียน พวกเรามีโอกาสแวะไปกินข้าวในร้านอาหารบ้านทุ่ง ที่มีกับข้าวอร่อยๆทำสดรสมือชาวบ้านให้เลือกกิน พร้อมตบท้ายกันด้วยสุราพื้นบ้านให้ร้อนท้องวูบวาบเป็นการอุ่นเครื่องก่อนมุ่งสู่ “สะพานฟ้า” หนึ่งในดินแดนมหัศจรรย์ธรรมชาติของเมืองนี้ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ.2007 การไปชมสะพานฟ้า ทางเมืองจีนมีเส้นทางอันน่าทึ่งให้ ได้ตื่นเต้นกับลิฟต์แก้วที่ให้เราดิ่งลึกลงไปในหุบเหวสูงกว่า 80 เมตร จากนั้นก็เป็นเส้นทางเดินเท้าชมทัศนียภาพอันสุดอลังการ
          สะพานฟ้า หรือที่บ้างก็เรียกว่า “หลุมฟ้า สะพานสวรรค์” เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกจนกลายเป็นหลุมธรรมชาติขนาดยักษ์ที่เบื้องล่าง โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ โรงเตี๊ยมโบราณ และ 3 สะพานฟ้า โรงเตี๊ยมโบราณ เป็นจุดพักระหว่างทางสมัยโบราณ ซึ่งในหลุมหุบเขาแห่งนี้สมัยโบราณถือเป็นเส้นทางลัดจากเสฉวนไปเหอหนาน เมื่อคณะต่างๆ เดินทางมาถึงที่นี่ก็จะมาแวะพักค้างแรมที่โรงเตี๊ยมแห่งนี้ เพราะหากเดินทางต่อไปยามค่ำคืนอาจถูกโจรปล้นดักชิงสินค้า สิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง


          โรงเตี๊ยมโบราณปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่ในรูปแบบเดิม แถมยังโด่งดังขึ้นมาแบบก้าวกระโดดหลังได้รับเลือกเป็นฉากสำคัญทั้งฉากดราม่าและฉากต่อสู้บู๊เลือดสาด ในภาพยนตร์เรื่อง “ศึกโค่นบัลลังก์วังทอง” (Curse of the Golden Flower) ของยอดผู้กำกับ “จาง อี้ โหมว” ที่มี 3 ดาราชั้นนำมาหักเหลี่ยมเฉือนคมความตายกันนำโดย โจว เหวิน ฟะ, เจย์ โชว์ และดาราสาวสวยในดวงใจ คือ “กง ลี่” ใกล้กับโรงเตี๊ยมโบราณเป็น สะพานฟ้าสะพานแรก คือ “สะพานมังกรฟ้า” ที่มีลักษณะเป็นโพรงทะลุมองคล้ายสะพานขนาดยักษ์เชื่อมสวรรค์กับโลกมนุษย์


          เมื่อเดินต่อไปก็ได้พบกับ “สะพานมังกรเขียว” ที่มีหน้าผาแหลมทิ่มแงฟ้า และมีเงาสะท้อนน้ำ ซึ่งคนจีนจินตนาการว่าดูคล้ายดาบของกวนอู จากนั้นเมื่อเดินต่อไปก็จะเป็น ไฮไลท์ลำดับสุดท้าย คือ “สะพานมังกรดำ” ที่เป็นตรอกผาในส่วนที่แคบที่สุดจึงมีความมืดทึบดำตามชื่อสะพาน นอกจากไฮไลต์ทั้ง 4 แล้ว ที่นี่ยังมีน้ำตกสายเล็กไหลลงมา สายน้ำที่ไหลคู่ขนานไป บึงมรกต ละอองน้ำที่เป็นฝอยสวยงามกระเซ็นสายลงมา และทัศนียภาพอันสวยงามแปลกตาของหลุมยุบ ที่มุมมองจะเปลี่ยนไปตามเส้นทาง ชวนให้จินตนาการตามไม่น้อยเลย และนี่ก็คือ เสน่ห์ของ ฉงชิ่ง เมืองที่นอกจากจะมีภาพอันโดดเด่นโฉบเฉี่ยวของมหานครเนรมิตอันทันสมัยในอันดับต้นๆ แห่งแดนมังกรแล้ว ยังเป็นเมืองที่มีสิ่งน่าสนใจทางการท่องเที่ยวที่ทำให้ทัวร์ฉงชิ่ง ครบสมบูรณ์แบบ ทั้งธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม อันทรงคุณค่าในระดับมรดกโลกที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

     


สนใจทัวร์ฉงชิ่ง ดูรายละเอียดได้ที่
http://www.doubleenjoy.com/ทัวร์เที่ยวจีน/ทัวร์ฉงชิ่ง-สุ้ยหนิง-ล่องเรือแม่น้ำแยงซีเกียง.aspx

ขอบคุณข้อมูล และภาพสวยๆจาก www.manager.co.th